บกปภ.ช. สั่งการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น ช่วงวันที่ 11 – 13 ก.พ. 68 อย่างใกล้ชิด ทุกภาคส่วนยังคงบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (10 ก.พ. 68) เวลา 10.00 น. ณ ห้องกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยมีผู้บริหาร ปภ. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ ขอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นในช่วงวันที่ 11 – 13 ก.พ. 68 อย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์และการเตรียมการป้องกันฝุ่นในห้วงดังกล่าว ตลอดจนเน้นย้ำจังหวัดติดตามและตรวจสอบพื้นที่ที่มีค่าจุดความร้อนสูง เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุเพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง/เลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) พบว่า ในวันนี้สถานการณ์ฝุ่นภาพรวมของประเทศเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ คือ ในช่วงวันที่ 9 – 10 กุมภาพันธ์ 2568 สถานการณ์ฝุ่นละอองภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ค่ามาตรฐานทุกพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพมหานคร แต่ยังมีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังคุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิด จำนวน 3 จุด ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี และตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ซึ่งจากการคาดการณ์คุณภาพอากาศ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 11 – 15 กุมภาพันธ์ 2568 สถานการณ์ฝุ่นละอองจะเริ่มสะสม อีกครั้ง เนื่องจากกระแสลมมีการเปลี่ยนทิศทาง รวมถึงมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางเริ่มลดลง ทำให้สถานการณ์ฝุ่นมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลางฝั่งตะวันออก และภาคตะวันออก และหลังจากวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 สถานการณ์ฝุ่นละอองจะเริ่มคลี่คลายลง เนื่องจากอัตราการระบายอากาศเริ่มดีขึ้น จากการได้รับอิทธิพลจากลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับการติดตามสถานการณ์จุดความร้อน (Hotspot) ในประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 มีจำนวนจุดความร้อน 791 จุด อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าห้วงของปีที่แล้ว และหากพิจารณาจุดความร้อนรายจังหวัด พบว่า มี 5 จังหวัดที่มีค่าจุดความร้อนสูง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา และเพชรบูรณ์ โดยจุดความร้อนที่ตรวจพบเป็นพื้นที่ป่าเป็นหลัก ทั้งในป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และมีจุดความร้อนขึ้นในพื้นที่การเกษตร
“จากข้อมูลการคาดการณ์สภาพอากาศในระยะต่อไปของกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมควบคุมมลพิษมีความสอดคล้องกัน จึงขอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 11 – 13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่คาดว่าเป็นช่วงที่มีอัตราการระบายอากาศลดลง ซึ่งอาจทำให้หลายพื้นที่มีค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบสถานการณ์และการเตรียมการป้องกัน รวมถึงลดการทำกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นในห้วงดังกล่าว นอกจากนี้ ขอให้จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันข้ามแดน หากมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกต่าง ๆ ในพื้นที่ ขอให้รายงานให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติรับทราบ เพื่อเป็นข้อมูลในการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาในภาพรวมของประเทศให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ” นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าว
ด้านนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า การรณรงค์ “หยุดเผา หยุดฝุ่น เพื่อคุณ เพื่อเรา” จากข้อมูลเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 มีจังหวัดที่มีการประกาศห้ามเผาเพิ่มขึ้น รวม 59 จังหวัด โดยทุกพื้นที่มีการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเข้มข้น เข็มแข็ง และต่อเนื่อง โดยอาศัยกลไกท้องถิ่นท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร จิตอาสา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทำงานเชิงรุกเคาะประตูบ้านสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในการหยุดเผาและหยุดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นควัน ตลอดจนมีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการเผาอย่างเคร่งครัด ซึ่งขอให้จังหวัดดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มข้นแบบนี้ต่อเนื่องต่อไป รวมถึงติดตามการดำเนินการและสั่งการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบที่มีต่อสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิด และขอเน้นย้ำให้จังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ติดตาม ตรวจสอบ และกำกับพื้นที่ที่มีค่าจุดความร้อน (Hotspot) สูง โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตร เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดค่าจุดความร้อน และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเพื่อให้ค่าจุดความร้อนลดลงและเป็นการสกัดกั้นโอกาสในการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าตั้งแต่ต้นทาง
ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่น 6 ข้อ และข้อสั่งการของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด รวมถึงเตรียมพร้อมสรรพกำลัง เจ้าหน้าที่ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย สนับสนุนจังหวัด ที่มีสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ในการควบคุมสถานการณ์ แก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบที่มีต่อประชาชน ซึ่งปัจจุบันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับกองทัพบก (ทบ.) ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 ไปประจำการ 2 พื้นที่หลัก คือ จุดที่ 1 ประจำการ ณ ฐานปฏิบัติการกองพลทหารราบที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 ลำ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการดับไฟป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จุดที่ 2 ณ อุทยานแห่งชาติศรีนครินทร์ จำนวน 1 ลำ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจควบคุมไฟป่าในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะติดตามสถานการณ์และรายงานข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ทาง Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ X @DDPMNews หากประชาชนต้องการแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือ สามารถแจ้งเรื่องได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 หรือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” @1784DDPM ได้ตลอด 24 ชั่วโมง"