หมายเหตุ : การเลือกตั้งสมาชิกสภาและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศวันที่ 1 ก.พ.2568  ถูกจับตาจากทุกๆฝ่าย แม้จะเป็นการเลือกตั้งระดับสนามเล็ก แต่กลับเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวที่ปลุกให้บรรยากาศทางการเมืองเข้มข้น และดุเดือดมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว 2567

“ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม”  อดีตคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์รายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ออกอากาศทางช่องยูทูบ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 วิเคราะห์เจาะลึกถึงความสำคัญของการเลือกตั้งสมาชิกสภาและนายกอบจ.ในมุมของการพัฒนาศักยภาพจังหวัด รวมถึงยังมองข้ามช็อตถึงมิติด้านการเมือง

- เหตุใดการเลือกตั้งอบจ.ปี 2568 จึงได้รับความสนใจค่อนข้างมาก และเข้มข้น

มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดความเข้มข้น ปัจจัยแรกคือการสร้างกระแสของบรรดาพรรคการเมือง ที่แสดงความจำนงในการส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้ง นายก อบจ.เกือบทุกจังหวัดก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย ที่อาจไม่แสดงตนในนามพรรคมากนัก และพรรคประชาชน รวมถึงผู้สมัครอิสระ

ประการที่สอง มาจากการที่ได้ผ่านการเลือกตั้งนายกอบจ.เมื่อปี 2562 มาบ้างแล้ว ซึ่งก่อนเลือกตั้งในปี 2562 ที่ก่อนหน้านี้เว้นว่างจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2557- 2563 เกือบ 6-7 ปี แต่อบจ.มีการเลือกก่อนปี 2563 ซึ่งก็ถือเป็นปัจจัยที่เปิดให้มีการเลือกตั้งก่อนรัฐประหาร ประการที่สาม มาจากกระแสการกระจายอำนาจ เริ่มเป็นโจทย์ที่แก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้ เริ่มมีงบประมาณท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น แม้อาจจะไม่มากนัก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าหากท้องถิ่นได้ทำการบริการที่เป็นรูปแบบสาธารณะ เมื่อได้งบประมาณเพิ่ม ก็จะทำให้เห็นว่าการปกครองส่วนถิ่นนั้นมีประโยชน์กับประชาชน

ดังนั้นปัจจัยทั้งสามข้อดังกล่าว จึงรวมกันแล้วเป็นข้อกำหนดที่ทำให้เห็นว่า งบประมาณของท้องถิ่น สามารถทำให้เกิดประโยชน์ แต่ไม่แน่ใจว่าทางการเมืองนั้นคิดอย่างไร  อาจจะคิดว่าการมีงบประมาณให้อบจ.มาพัฒนาจังหวัดก็เป็นผลที่ดีต่อประชาชน

ประการที่สี่ คือการที่พรรคการเมืองคิดว่าพื้นที่อบจ.เป็นพื้นที่ใหญ่ เป็นพื้นที่ทั้งจังหวัด การคิดในการยึดพื้นที่เพื่อหวังผลต่อการเลือกตั้งระดับชาติ

มีประเด็นสำคัญที่ผมเองอยากพูดในครั้งนี้ คือเรื่องของภาพจำที่เป็นเรื่องของนโยบาย ภาพจำที่เป็นเรื่องของกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจให้กับ อบจ. ภาพจำเหล่านี้ พบว่าบนเวทีปราศรัยหลายแห่ง ทั้งผู้ที่ไปเป็นผู้ช่วยหาเสียงก็ดี ทั้งตัวผู้สมัครเองก็ดี และผู้นำพรรคหลายคนที่ไปก็ดี เรากลับไม่ค่อยได้เห็นภาพจำที่เกี่ยวข้องกับบทบาท อำนาจหน้าที่ของอบจ.ว่าทำอะไร  นายกและตัวสมาชิกสภาอบจ.มีอำนาจจะทำอะไร

จุดนี้น่าเสียดาย และยังพันไปยังสื่อต่างๆด้วย มักจะไปเน้นภาพจำเรื่องของวิวาทะระหว่างพรรคนั้น พรรคนี้ พรรคไหนจะได้เก้าอี้อบจ.มากกว่า เหมือนกับโพลที่ออกมา สะท้อนว่า พรรคใดจะได้เสียงมากกว่า แต่จากนั้นจะนำไปสู่อะไร ซึ่งมันตอบได้อย่างเดียวว่าพรรคนั้น พรรคนี้จะสามารถยึดครองได้ ทั้งจังหวัดทั้งตัวเขต และคะแนนเสียง

สำหรับผมภาพแบบนี้ไม่ได้เกิดประโยชน์ อาจจะได้ในแง่การเมือง จึงทำให้ภาพการเมืองถูกฉายแสงมากกว่า ภาพจำเรื่องอำนาจของอบจ.ว่าจะทำอะไรได้บ้าง อำนาจของนายกอบจ.จะทำอะไรได้ และรัฐบาลในฐานะที่เป็นพรรคที่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายการกระจายอำนาจได้กลับไม่ได้พูดว่ารัฐบาลจะกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นได้อย่างไร จะทำให้ภารกิจระหว่างส่วนกลางกับอบจ. ที่มีความซ้ำซ้อนกัน คลี่คลายไปในทางที่จะผนึกกำลังกันทำงานหรือถ่ายโอนภารกิจให้อบจ.อย่างไร แต่ก็อาจจะมีบางพรรคที่พูด เราก็ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย แต่มันไม่ได้เป็นกระแสหลักมากเท่ากับการที่พรรคการเมืองบางที่หาเสียงเรื่องของนโยบายรัฐบาล ไม่ได้เสนอเรื่องการกระจายอำนาจ

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นภาพจำผ่านสื่อของประชาชน แต่ภาพจำเชิงนโยบายท้องถิ่นต้องชัดเจน ซึ่งความจริงแล้วนายกอบจ.มีอำนาจที่จะกำหนดนโยบายที่เป็นไปตามอำนาจของอบจ. ผมยกตัวอย่างแบบนี้ คืออบจ.มีอำนาจ 2อำนาจ คือ อำนาจตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ร.บ.ฉบับนี้เขียนเอาไว้หลายเรื่อง แม้กระทั่งการเขียนให้อบจ.ทำโรงพยาบาล รวมทั้งยังเขียนให้อบจ.มีหน้าที่ดูแล บำรุงและรักษาป่าไม้ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกเสนอว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งยังได้มีการเขียนให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.อบจ.เองใน มาตรา 45 ที่ระบุว่า อบจ.มีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองดูแล และบำรุงรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ยิ่งในปัจจุบันเรามีปัญหาเรื่องอากาศสะอาด เรื่องฝุ่นละอง การบำนัดน้ำเสีย เรื่องเหล่านี้ต้องถูกเสนอให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่า นายกอบจ.จะไปกำหนด นโยบายเรื่องการทำโรงพยาบาลประจำจังหวัด แข่งกับโรงพยาบาลรัฐ หรือไม่ อย่างไร  หรือนายกอบจ.จะไปดูแลเรื่องฝุ่น อากาศเป็นพิษ อย่างไร นายกอบจ.จะทำสถานีขนส่ง ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร

อย่าลืมว่าในกฎหมายอบจ.อีกฉบับหนึ่งเขียนเอาไว้ว่า การจัดทำแผนพัฒนาอบจ.และการจัดทำแผนการพัฒนาจังหวัด แปลว่านายกอบจ.ต้องมีภาวะผู้นำที่เด่นชัดว่าจะร่วมกันทำแผนพัฒนาจังหวัดกับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างไร ให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนสูงสุด

ผมคิดว่า การเสนอนโยบายของนายกอบจ. จึงมีความสำคัญที่จะให้ประชาชนไปเลือกตั้ง ต้องตอบให้ได้ว่าถ้าเราเลือกนายกอบจ.แล้วเราจะได้ประโยชน์อะไรกับประชาชน แต่มันไม่ได้ถูกเสนอให้เด่นชัด ว่านายกอบจ.คนนี้ จะทำให้จังหวัดนี้จะเปลี่ยนแปลง อย่างไร

-หลังการเลือกตั้งนายกอบจ. วันที่ 1ก.พ.ไปแล้ว ผลการแพ้-ชนะจะสะท้อนอะไรได้บ้าง และจะนำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองจากนี้

มองว่ามีอยู่ 2-3 เรื่อง คือ 1. ในนามของพรรคการเมือง เขาสามารถยึดพื้นที่จังหวัดนั้นได้เท่าไหร่ ได้คะแนนในจังหวัดนั้นๆเท่าใด เพราะการเลือกอบจ.เป็นการเลือกทั้งจังหวัด ดังนั้นภาพรวมของจังหวัดจะทำให้พรรคการเมืองรู้เลยว่า คะแนนที่ได้รับนั้น จะเห็นในส่วนของพื้นที่เดิมที่ครองอยู่ และยังจะได้เห็นพื้นที่ใหม่ ที่ชนะเลือกตั้งแล้วได้ครอบครองจังหวัดนั้น จะเห็นได้เลยว่ากลุ่มบ้านใหญ่รักษาฐานเสียงได้หรือไม่

2. สามารถทำนายอนาคตได้เลยว่าเนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้มีสมาชิกสภาอบจ.ด้วย ดังนั้นต้องเช็กคะแนนของส.อบจ.ด้วย ว่าได้กี่เขต เพราะคนกลุ่มนี้ตอบได้ถึงสส.เขตที่จะได้ในการเลือกตั้งสส.ครั้งหน้า  โดยในภาพใหญ่ พรรคการเมืองจะมองไปถึงคะแนนของปาร์ตี้ลิสต์ ที่จะสะท้อนคะแนนนิยมของพรรค เท่าใด ส่วนภาพย่อยคือส.อบจ.ที่อยู่ในเขตอำเภอนั้นๆซึ่งมีสส.ของเขาคุมอยู่ ฐานคะแนน จะเป็นเท่าใด และจะเลือกสส.ลงจะได้คะแนนอย่างไร

3. ในส่วนของส.อบจ. จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การพิจารณาลงสมัครรับเลือกตั้งสส.ในปี 2570 อย่าลืมว่า ในสภาฯวันนี้เองผมก็ดีใจที่พบว่ามีส.อบจ.หลายท่านไปเป็นสส.พัฒนาตนเองจากสภาเล็ก มาเป็นสภาใหญ่

นอกจากนี้ยังเชื่อว่าทิศทางข้างหน้าที่พรรคการเมืองจะมอง เห็นแล้วว่าจังหวัดไหนบ้างที่จะเป็นเป้าหมายที่จะทำการเมืองระดับชาติ พรรคการเมืองสามารถบวก ลบ คูณ หารได้จากนายกและส.อบจ.

ประเด็นสุดท้ายคือวันนี้เราเรียกร้อง เรื่องอำนาจหน้าที่ว่าอบจ.ทำอะไรเริ่มมาแรงแล้ว ซึ่งจะเป็นคำตอบได้ว่าจากนี้ไป คนที่ เป็นนายกอบจ.ต้องตระหนักถึงความเป็นผู้นำจังหวัด ต้องเป็นผู้นำสร้างอัตลักษณ์จังหวัด สร้างเศรษฐกิจจังหวัด สร้างการบริการสาธารณะบางเรื่องให้เกิดนวัตกรรมแล้วท่านจะได้รับการยอมรับจากพี่น้องประชาชน และท่านจะเป็นนักการเมืองที่ดี ที่จะเป็นตัวเลือกของพรรคต่อไป ดังนั้นการปกครองในระดับจังหวัดเป็นพื้นฐานที่ส่งต่อไปยังการเป็นนักการเมืองแห่งชาติที่ดีได้