สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…  

แม้จะผ่านพ้นมาหลายวันแล้ว แต่การเลือกตั้ง อบจ.ที่ผ่านพ้นมา ยังมีควันหลงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะเป็นการวัดพลังของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในระดับท้องถิ่น ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวโน้มในการเลือกตั้งระดับชาติในอนาคต …*…

สำหรับพรรคประชาชนที่มีการมองกันว่าประสบความล้มเหลวในการเลือกตั้ง อบจ.คราวนี้นั้น นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนเห็นสอดคล้องกันว่า เป็นเพราะผู้สมัครพรรคพลังประชาชนขาดความโดดเด่นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และมุ่งพึ่งพานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล มากเกินไป …*…

ขณะที่ รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมือง และยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ชี้ว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคประชาชนไปไม่ถึงเป้าที่มุ่งหวัง มาจากปัจจัยวันเลือกตั้งที่เป็นวันเสาร์ ทำให้ผู้มาใช้สิทธิลดลง ประกอบกับพรรคประชาชนเองอาจยังไม่มีพลังมากเพียงพอในแง่ของทีม อบจ.ที่จะไปกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิและเปลี่ยนใจเลือกพรรคประชาชนจนทำให้ชนะในพื้นที่เป้าหมายหลัก …*…

 อย่างไรก็ตาม รศ.พิชายชี้ว่าจากภาพรวมสนามการเลือกตั้ง นายก อบจ.นั้น กำแพงของบ้านใหญ่ที่แน่นหนา เริ่มเกิดรอยรั่วรอยร้าว 1 จุด คือที่ จ.ลำพูน ถือว่าเป็นจุดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อไปในอนาคตที่ทำให้กำแพงบ้านใหญ่ในจังหวัดอื่นๆ เกิดรอยร้าวขึ้นหนัก และขยายตัวในการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป…*…

 “ถือว่าเป็นจุดความสำเร็จและเป็นจุดเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะเป็นจุดเล็กๆ และวิธีการบริหารของพรรคประชาชน ตั้งแต่มีการเลือกตั้งเสร็จได้ประกาศแนวทางการบริหารที่เรียกได้ว่าทำลายประเพณีการบริหารแบบบ้านใหญ่แบบเดิมโดยสิ้นเชิง คือเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ที่จะส่งผลสะเทือนต่อการบริหารของ นายก อบจ.กลุ่มบ้านใหญ่ทั้งหลาย” รศ.พิชายระบุ …*…  

ด้าน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นว่าจากผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่บ้านใหญ่ยังเป็นแชมป์อยู่ ได้สะท้อนว่าการเมืองระดับท้องถิ่น มีความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เป็นเรื่องสำคัญ โจทย์ที่น่าสนใจประการหนึ่งคือหลายพื้นที่โหวตโนหรือไม่ประสงค์จะลงคะแนนเสียง และบัตรเสียสูงมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ใหญ่ๆ เช่น จ.นครราชสีมา นั่นเป็นเพราะว่าตัวเลือกทางการเมืองของประชาชนไม่ค่อยมีหรือไม่ ถึงแม้ว่าบ้านใหญ่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีจุดที่อยากจะเปลี่ยน โดยสะท้อนออกมาจากบัตรโหวตโน และบัตรเสียเหล่านี้ …*…

 ในส่วนของพรรคเพื่อไทยที่พลาดท่าในหลายจังหวัดที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯออกแรงลงพื้นที่ช่วยหาเสียงแบบสุดตัวนั้น รศ.ดร.ยุทธพร ให้มุมมองว่ายังไม่สามารถบอกว่านายทักษิณสิ้นมนต์ขลัง หรือใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือเลือกตั้งทั่วไป เพราะการเลือกตั้งในแต่ละครั้งมีปัจจัยที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่กฎกติกาการเลือกตั้ง หรือการตัดสินใจเลือกผู้สมัครของประชาชนในการเมืองท้องถิ่นกับระดับชาติแตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไปเกี่ยวข้องกับบริบทสังคม และการเมืองในช่วงที่มีการเลือกตั้งด้วย จะเห็นได้ว่าหลายพื้นที่ เช่น จ.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยมี สส.มากที่สุด ถึง 7 คน แต่ก็แพ้อย่างขาดลอยในสนามการเลือกตั้ง อบจ. หรือ จ.นนทบุรี สมุทรปราการ พรรคประชาชนเคยกวาดยกจังหวัดในการเลือกตั้งปี 2566 แต่ก็ไม่ได้นายก อบจ.เช่นเดียวกัน ในแต่ละครั้งมีเกมการเล่น ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีที่ต่างกัน …*…

 “หลังจากนี้แต่ละพรรคการเมือง มีโจทย์ที่ต้องกลับไปทำการบ้านกันต่อ เช่นเพื่อไทยต้องกลับไปทบทวนว่า หลายพื้นที่ที่เคยชนะ ว่ายุทธศาสตร์ที่ใช้นายทักษิณเป็นบทบาทนำในการหาเสียงจะต้องมีการไปปรับอย่างไรหรือกรณีของพรรคประชาชนต้องใช้ลำพูนเป็นแซนด์บ็อกซ์เพื่อจะทำให้เห็นว่ามีการลงมือทำตามนโยบายจริงๆ ซึ่งจุดอ่อนของพรรคประชาชนที่ถูกตั้งคำถาม คือ ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม และลำพูนจะเป็นโอกาสของพรรคประชาชน เพื่อเป็นบทพิสูจน์ เพื่อนำไปสู่ระดับชาติ พรรคภูมิใจไทย ที่หลายคนมองว่า “มาเงียบ แต่กินเรียบหมด” จะเห็นได้ว่าพรรคภูมิใจไทยไม่ได้ส่งผู้สมัคร แต่เป็นพรรคเป็นพวกกัน แต่โจทย์ของพรรคภูมิใจไทยวันนี้จะทำงานการเมืองในสไตล์เครือข่ายในระดับพื้นที่อย่างเดียวไม่พอ ต้องไปสู่การเมืองระดับชาติ หรือการเปิดพื้นที่การเมืองใน กรุงเทพด้วย ถ้ามีความต้องการเป็นแกนนำรัฐบาลในอนาคต” ข้อคิดจาก รศ.ดร.ยุทธพร …*…

ที่มา:เจ้าพระยา (6/2/68)