ตบเท้าเข้าสู่ “ทำเนียบขาว” พร้อมกับเขย่าขวัญ สร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งในสหรัฐอเมริกา และประชาคมโลก อย่างที่ไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนไหนทำมาก่อน

สำหรับ การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์

เพราะฉับพลันทันทีที่ทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งเสร็จ ก็สร้างความดุเด็ดเผ็ดมันให้แก่ภาคส่วนต่างๆ ในทันที แบบชนิดที่วันแรกที่นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี ในห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเป็นจำนวนมาก ชนิดที่แฟ้มที่ผ่านการลงนามแล้ว วางเรียงกันเต็มโต๊ะทำงานกันเลยทีเดียว

โดยหนึ่งในแฟ้มที่เขาลงนามนั้น ก็มีคำสั่งฝ่ายบริหาร ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนชื่อ “อ่าวเม็กซิโก” เป็น “อ่าวอเมริกา” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนชื่อโดยไม่ถามไถ่ “เม็กซิโก” ประเทศเพื่อนบ้านว่าคิดเห็นเป็นประการใด กับการเปลี่ยนชื่อที่ไม่ผิดอะไรกับการขยายอาณาเขตของสหรัฐอเมริกาออกไปกันอยู่ในที ชนิดไม่เกรงใจชาติบ้านใกล้เรือนเคียง

มุมหนึ่งของอ่าวเม็กซิโก อ่าวที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เปลี่ยนชื่อเป็นอ่าวอเมริกา (Photo : AFP)

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงการขยายเขตแดนของสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ สมัยที่ 2 หรือ 2.0 นี้แล้ว นอกจากการเปลี่ยนชื่ออ่าวแล้ว ก็ยังมีแนวคิดที่จะได้ดินแดนอื่นๆ ให้มาเป็นอาณาเขตของสหรัฐฯ อีกหลายเขตแดนอีกต่างหากด้วย โดยบางอาณาเขต ก็เป็นของประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิด หรือไม่ก็เป็นประเทศพันธมิตรที่ต้องแสดงความเป็นมิตรไมตรีระหว่างกัน

ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดที่อยากจะได้ “แคนาดา” ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากที่สุดมาเป็น “รัฐที่ 51” ของสหรัฐฯ

แผนที่ประเทศแคนาดา ซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ มีแนวคิดอยากจะได้มาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ (Photo : AFP)

แนวคิดที่จะยึด “คลองปานามา” มาจากประเทศปานามา อันเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอเมริกากลาง

แนวคิดที่ะได้ครอบครอง “เกาะกรีนแลนด์” มาจากประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในทวีปยุโรป

ขณะที่ ประชาชนชาวอเมริกันคิดเห็นกันอย่างไรต่อแนวคิดขยายอาณาเขตของประธานาธิบดีทรัมป์นั้น ก็ต้องมาดำเนินการสำรวจความคิดเห็น หรือสำรวจโพลล์กัน ซึ่งเหล่าสำนักโพลล์ ได้ดำเนินการสำรวจมาหลายครั้งหลายคราแล้ว นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้คิดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ออกมาดังๆ คือ ประกาศให้สาธารณชนรับรู้ก่อนหน้าที่เขาจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อช่วงก่อนหน้า

อาทิเช่นในการสำรวจโพลล์ของชาวอเมริกันเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่จะนายทรัมป์จะประกอบพิธีสาบานตนรับตำแหน่งฯ โดยหนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยซัฟโฟล์ค ในสหรัฐฯ ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวอเมริกันเกี่ยวกับแนวคิดของนายทรัมป์ต่อการที่จะได้ครอบครองเกาะกรีนแลนด์มาเป็นของสหรัฐฯ

โดยผลการสำรวจโพลล์ข้างต้น ปรากฏว่า ร้อยละ 53 ของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของนายทรัมป์ที่อยากจะได้เกาะกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นของเดนมาร์ก มาเป็นของสหรัฐฯ ซึ่งในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เห็นด้วยนี้ ก็ยังมีความเห็นว่า เป็นแนวคิดที่เลวร้ายอีกด้วย

ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างที่สนับสนุนกับแนวคิดของทรัมป์ มีจำนวนเพียงร้อยละ 29 แต่คนกลุ่มนี้ ก็ไม่คาดคิดว่า เกาะกรีนแลนด์ จะมาอยู่ในครอบครองของสหรัฐฯ ในความเป็นจริง

นั่น! เป็นการสำรวจโพลล์เมื่อช่วงก่อนหน้า แต่ในการสำรวจครั้งล่าสุด โดย “อิปซอส” ร่วมกับ “สำนักข่าวรอยเตอร์ส” หลังจากที่นายทรัมป์ ประกอบพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปรากฏว่า เกี่ยวกับแนวคิดการครอบครองเกาะกรีนแลนด์ข้างต้นด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรง เช่น โดยการซื้อจากเดนมาร์ก ทางประชาชนชาวอเมริกันกลุ่มตัวอย่าง ก็ไม่เห็นด้วย เพิ่มมากขึ้นยิ่ง คิดเป็นถึงร้อยละ 65 โดยแบ่งเป็นไม่เห็นด้วยแบบธรรมดา จำนวนร้อยละ 15 และไม่เห็นด้วยอย่างแข็งขัน จำนวนร้อยละ 50 ส่วนผู้ที่เห็นด้วยมีจำนวนรวมแล้วเพียงร้อยละ 11 โดยแบ่งเป็นเห็นด้วยแบบธรรมดาที่ร้อยละ 8 และเห็นด้วยอย่างแข็งขันเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น

ชุมชนชาวเกาะกรีนแลนด์ชุมชนหนึ่ง ซึ่งอาศัยและดำรงชีวิตบริเวณริมทะเล (Photo : AFP)

ทั้งนี้ ในประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดที่จะครอบครองเกาะกรีนแลนด์ของประธานาธิบดีทรัมป์ หากถึงขั้นต้องใช้กำลังทหารเข้าบุกยึด ทางกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกัน ก็ยิ่งไม่เห็นด้วยเพิ่มมากขึ้น โดยมีจำนวนรวมแล้วถึงร้อยละ 71 แบ่งเป็นไม่เห็นด้วยแบบธรรมดา จำนวนร้อยละ 13 และไม่เห็นด้วยอย่างแข็งขันมีจำนวนร้อยละ 58 ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เห็นด้วย มีจำนวนเพียงร้อยละ 9 เท่านั้น แบ่งเป็นเห็นด้วยแบบธรรมดาร้อยละ 7 และเห็นด้วยอย่างแข็งขัน จำนวนร้อยละ 2

โดยตัวเลขที่ออกมาข้างต้นนั้น ทั้งในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เห็นด้วย และเห็นด้วย ทั้งแบบธรรมดา และแบบแข็งขันนั้น ก็ยังเป็น “ตัวเลขเดียวกับ” ที่ทาง “อิปซอส” และ “รอยเตอร์ส” สำรวจเกี่ยวกับการใช้กำลังทหารบุกยึดคลองปานามาให้มาเป็นของสหรัฐฯ ตามแนวคิดของประธานาธิบดีทรัมป์อีกด้วย

คลองปานามา ประเทศปานามา (Photo : AFP)

ส่วนการเข้าครอบครองคลองปานามาจากประเทศปานามา ด้วยวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ใช่วิธีการทางทหารเข้าบุกยึด ทางกลุ่มตัวอย่างก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน โดยมีจำนวนรวมแล้วที่ร้อยละ 47 แบ่งเป็นไม่เห็นด้วยแบบธรรมดา ร้อยละ 10 และไม่เห็นด้วยอย่างแข็งขันร้อยละ 37 ขณะที่ ผู้เห็นด้วยมีจำนวนรวมแล้วที่ร้อยละ 29 แบ่งเป็นเห็นด้วยแบบธรรมดาร้อยละ 15 และเห็นด้วยอย่างแข็งขันร้อยละ 14

ในส่วนแนวคิดการขยายอาณาเขตสหรัฐฯ อื่นๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ได้ผลจากการสำรวจโพลล์ว่า ไม่เห็นด้วยในทุกแนวคิดเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโก มาเป็นอ่าวอเมริกา ที่มีผู้ไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ 55

เช่นเดียวกับแนวคิดการครอบครองประเทศแคนาดา ให้มาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ ก็มีผู้ไม่เห็นด้วยรวมแล้วถึงร้อยละ 64 แบ่งเป็นไม่เห็นด้วยแบบธรรมดา ร้อยละ 14 และไม่เห็นด้วยอย่างแข็งขันถึงร้อยละ 50 โดยมีผู้เห็นด้วยรวมแล้วเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น แบ่งเป็นเห็นแบบธรรมดาจำนวนร้อยละ 9 และเห็นด้วยอย่างแข็งขันที่ร้อยละ 5