หากยังจำกันได้ การระบาดของไข้หวัดนก (H5N1) ในประเทศไทย เมื่อปี 2547 มีผลกระทบอย่างมากทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 12 ราย มีการทำลายสัตว์ปีกมากกว่า 60 ล้านตัว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้เกษตรกรและผู้เลี้ยงสัตว์ต้องหยุดกิจการ เรียกว่าไทยต้องสูญเสียการส่งออกสัตว์ปีกมากกว่า 60,000 ล้านบาท และเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย
อันตรายของโรคระบาดไข้หวัดนกเป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่เคยเผชิญความรุนแรงดังกล่าว แม้หลังจากนั้นเป็นต้นมา ไทยจะสามารถพลิกวิกฤต เรียนรู้ และสร้างมาตรฐานการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพอย่าง ระบบคอมพาร์ทเม้นท์ ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยไม่เคยเกิดไข้หวัดนกเป็นครั้งที่ 2 รักษาความมั่นคงทางอาหารของชาติได้มาจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม โรคระบาดเป็นปัจจัยที่ยากต่อการควบคุม โดยเฉพาะในต่างประเทศ ดังที่ขณะนี้ กำลังเกิดการระบาดของไข้หวัดนกในสหรัฐอเมริกา ยุโรป (ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ฮังการี, เนเธอร์แลนด์, และโปแลนด์) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสัตว์ปีกรายใหญ่ของโลก รวมถึง จีนและอินเดีย แน่นอนว่าสิ่งที่จะตามมาคือ ปริมาณซัพพลายในตลาดโลกจะน้อยลง ไม่ใช่เฉพาะแค่เนื้อไก่สดหรือไข่ไก่ แต่หมายรวมถึง พ่อแม่พันธุ์ไก่ด้วย ขณะเดียวกัน องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (Office International des Epizooties; OIE) ได้สั่งแบนการส่งออกไก่จากประเทศเหล่านั้น รวมถึงกรมปศุสัตว์ของไทยไม่อนุญาตให้นำเข้าสัตว์ปีกจากประเทศที่มีการระบาดเช่นกัน
กรณีเช่นนี้จำเป็นต้องป้องกันตั้งแต่ต้นทาง และควรเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการควบคุม ทั้งเรื่องการนำเข้าสัตว์ปีกมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการป้องกันและควบคุมโรคภายในประเทศ ตามมาตรฐานคอมพาร์ทเม้นท์ที่ประเทศไทยมี เพราะโอกาสสุ่มเสี่ยงที่เชื้อไข้หวัดนกจะติดมากับการนำเข้าสัตว์ปีกมีชีวิตและผลิตภัณฑ์นั้นเป็นไปได้สูง หากหละหลวมหรือละเลยการตรวจสอบ อาจนำมาซึ่งหายนะของประเทศ และกระทบความมั่นคงทางอาหารของคนไทยอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามและควรหาทางแก้ปัญหาในระยะยาว นั่นคือการที่ผู้ประกอบการไก่เนื้อและไก่ไข่ของไทยส่วนใหญ่ มักจะพึ่งพาการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อเกิดประเด็นโรคระบาดเช่นนี้ จะเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาในระยะยาวอาจหมายถึงควรสนับสนุนให้เกิดการผลิตพ่อแม่พันธุ์ภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีหลายข้อ อาทิ
1.ความมั่นคงทางอาหาร : การผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ภายในประเทศ ทำให้ไทยมีความมั่นคงทางอาหาร ไม่ต้องเสี่ยงต่อการนำเข้าจากประเทศที่มีการระบาดของโรคใดๆ หากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส หรือประเทศในยุโรปอื่น ๆ ประสบปัญหาไข้หวัดนก จะไม่มีผลกระทบต่อการผลิตอาหารในประเทศไทยอีกเลย
2.ความปลอดภัยของผู้บริโภค : การผลิตพ่อแม่พันธุ์ในประเทศ จะช่วยให้ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากโรคที่อาจเกิดจากการนำเข้าซัพพลายจากต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ไก่และไข่ไก่ที่ผลิตในประเทศจะมีความปลอดภัยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการตรวจสอบคุณภาพที่เข้มงวดกว่า
3.การลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร : การผลิตพ่อแม่พันธุ์ในประเทศ ช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ราคานำเข้าพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเกษตรกร และทำให้ราคาไข่ไก่ในตลาดมีเสถียรภาพ
4.สุขภาพไก่ที่ดีกว่า : การผลิตพ่อแม่พันธุ์ในประเทศ ลูกไก่ที่ได้มาย่อมสดชื่น ปรับตัวได้ดีในสภาพอากาศของไทย โรงฟักสามารถส่งลูกไก่ที่เพิ่งฟักไปถึงฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง ย่อมแข็งแรงกว่าลูกไก่ที่เพิ่งฟักและต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากต่างประเทศ เป็นวัน ซึ่งอาจทำให้ลูกไก่เจ็บป่วย เครียด และเสียหายจากการเดินทางไกล ก่อนจะเลี้ยงให้เติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไปได้
การรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรมีการวางแผนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้เพื่อมั่นใจได้ว่าคนไทยทั้งประเทศจะได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ในปริมาณที่เพียงพอและราคาที่เข้าถึงได้
โดย : เพ็ญภัสสร์ วิจารณ์ทัศน์