วันที่ 27 ม.ค. 68 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงมาตรการรับซื้ออ้อยของโรงงานต่างๆว่า ได้มีการทำข้อตกลงสร้างกติกาให้โรงงานรับอ้อยเผาในแต่ละวันไม่เกิน 25% ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันไม่มีโรงงานใดใน 58 โรงงาน รับอ้อยเผาต่อวันเกินกว่าที่กำหนด เฉลี่ยสุดท้ายอยู่ที่ 10-11% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีมาตรการช่วยเหลือ คือจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรที่ตัดอ้อยสด ให้ตันละ 120 บาท แต่มาตรการดังกล่าวนั้นสิ้นสุดลงไปแล้ว โดยได้มีการเสนอมาตรการใหม่เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการอุดหนุนทั้งการตัดอ้อยสดและรวบรวมใบอ้อยส่งโรงงาน รวมแล้วอยู่ที่ตันละ 120 บาท
นายเอกนัฏ กล่าวว่า ขณะเดียวกันยังมีการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตร โดยได้มีการพูดคุยกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อนำกากอ้อยและใบไปผลิตไฟฟ้า
นายเอกนัฏ กล่าวว่า เกษตรกรคงไม่มีการเผาอ้อยเพื่อท้าทายรัฐบาล และไม่มีโรงงานใดกล้าฝ่าฝืนมาตรการการรับซื้ออ้อย แต่การเผาไร่อ้อยนั้น ยอมรับว่ายังมีอยู่บ้าง บางพื้นที่เป็นอุบัติเหตุ แต่ในบางพื้นที่เครื่องจักรเข้าไม่ถึง ทำให้ต้องมีการเผา ผู้รับเหมาตัดอ้อยยังยึดติดกับวิธีเดิมๆ หากยังคงมาตรการเช่นนี้จนถึงสิ้นฤดูกาลปลายเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้จะสามารถช่วยเซฟพื้นที่การเกษตร และการเผาในพื้นที่โล่งเป็นล้านไร่ ซึ่งอย่างไรก็ตาม เราจะดำเนินการอย่างเข้มงวด และหลังจากนี้จะต้องมีการออกแบบระบบอย่างยั่งยืนยืน เพราะไม่ชอบการแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้า หรือปลายเหตุ