SOLAR ปั้นโครงการคาร์บอนเครดิตป่าสัก 6 พันไร่ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก-ได้คาร์บอนเครดิต 180,000 TCO2eq 

ปัจจุบันทุกภาคส่วนทั่วโลก ได้หันมาให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ สำหรับในภาคธุรกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมของประเทศไทย ได้มีความตระหนักรู้ถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสมอ อีกทั้งภาครัฐได้มีการออกมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก ลดขยะพลาสติก เพิ่มพื้นที่สีเขียว จนนำไปสู่นโยบาย Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน และต่อยอดไปสู่ธุรกิจคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เครื่องมือการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม 

บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR โดยตัวแทน บริษัท ซิมเมอร์มานน์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ บริษัท ไทยออร์คิดส์แล็บ เอสเตท จำกัด และบริษัท ไทยออร์คิดส์แล็บ เทคโนโลยี จำกัด เพื่อร่วมพัฒนาคาร์บอนเครดิต โดยมีเป้าหมายสร้างมูลค่าเพิ่ม สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน
โดยได้ริเริ่มโครงการคาร์บอนเครดิตจากป่าสัก “Carbon Credit Development: TCo2eq” และทำการรับรองคาร์บอนเครดิตดังกล่าวด้วยมาตรฐาน Verra องค์กรจดทะเบียนคาร์บอนเครดิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อให้สามารถทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ในหลากหลายประเทศทั่วโลก สำหรับโครงการคาร์บอนเครดิตจากป่าสัก เริ่มดำเนินการแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา มีการประมาณคาร์บอนเครดิต 180,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (TCO2eq) ในระยะเวลา 10 ปี ครอบคลุมพื้นที่ป่าสักกว่า 6 พันไร่ 

“คาร์บอนเครดิต” กลายเป็นเมกะเทรนด์สำคัญที่ทั่วโลกต่างหันมาให้ความสนใจ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงการมีส่วนร่วมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แต่ละองค์กรปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ โดยคาร์บอนเครดิต ถือเป็นกลไกที่จะกระตุ้นให้ชุมชนดูแลป่าและดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ส่งผลให้ลดการสูญเสียพื้นที่ป่า ลดอัตราการเกิดไฟป่าและลดปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 Co-benefit ของการทำโครงการภาคป่าไม้แก่ชุมชนและสังคม และผลจากการดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศได้โดยตรง

โซลาร์ตรอน ได้เล็งเห็นถึงมูลค่าของตลาดคาร์บอนเครดิต ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมากในอนาคต จากการอ้างอิงข้อมูลของ The Business Research Company ที่ระบุว่า มูลค่าตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลกในปี 2572 จะสูงถึง 1,891.27 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการเติบโตนี้คาดเป็นผลมาจาก การชดเชยคาร์บอนเครดิต กระแสลงทุนในโครงการคาร์บอนเครดิต การปรับกลยุทธ์ขององค์กรโซลูชั่นที่อิงจากธรรมชาติ เป็นต้น 

การที่ โซลาร์ตรอน ร่วมมือกับทั้ง 2 พันธมิตร ในการพัฒนาคาร์บอนเครดิต ถือเป็นอีกโมเดลธุรกิจหนึ่งที่จะช่วยผลักดันในเรื่องของรายได้ รวมถึงเพิ่มความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารที่ถือเป็นแหล่งทุน เช่น การเงินสีเขียว (Green Finance) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับเป็นความก้าวหน้ากับการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตสู่การผลักดันการจัดการผืนป่าอย่างยั่งยืน