กลุ่มนาแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) จ.สุพรรณบุรี ปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ ลดโลกร้อน เพื่อสุขภาพ เล็งต่อยอดขายคาร์บอนเครดิตในนาข้าว สร้างเกษตรมูลค่าสูง

นางเสาวนีย์  โพธิ์รัง ประธานแปลงใหญ่ หมู่ 11 ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี (นาแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ) เล่าถึงที่มาของการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ข้าวว่า ปี 2552 มีการรวมกลุ่มเป็นศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ผลิตสารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ ใช้ในเรื่องการลดต้นทุนการผลิตข้าว พอปี 2558 กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว ให้เกษตรกรรวมกันเป็นแปลงใหญ่ 5,00ห0 ไร่ พอดีพื้นที่ของเราและพื้นที่ใกล้เคียงสามารถรวมกันได้ จึงจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ข้าว แรกเริ่มมีสมาชิก 173 ราย แต่พอเราทำไป สมาชิกเกษตรกรเป็นผู้สูงอายุ ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิก 129 ราย ในพื้นที่ 5,217 ไร่  


สิ่งที่ทำให้กลุ่มเข้มแข็ง คือ เรามีกฎกติกาที่ชัดเจน เช่นทุกคนต้องมาประชุมร่วมกัน ถ้าไม่มาประชุมจะถูกหักเงิน 50 บาท ต่อครั้ง ถ้าขาดประชุมเกิน 3 ครั้ง หมดสิทธิ์การเป็นสมาชิก ซึ่งเป็นกฎกติกาที่ยึดถืออย่างเคร่งครัด ทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็ง รวมถึงมีการรวมกลุ่มเพื่อลดต้นทุนในการผลิตและรับองค์ความรู้ ซื้อปัจจัยการผลิตร่วมกัน สามารถต่อรองตลาดได้ดีและทำนาลดสภาวะโลกร้อน มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สร้างความสามัคคีในชุมชน โดยใช้เรื่องของกลุ่มมาเป็นตัวขับเคลื่อน คณะกรรมการมีความชัดเจนโปร่งใส และต้องรับฟังเสียงของสมาชิก โดยถือคติว่ากลุ่มเป็นของทุกคนไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเราจะมีสโลแกนว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ใครเป็นสมาชิกกับเรา เราจะนำพาทุกคนไปกับเราด้วยกันทั้งหมด”  


ประธานแปลงใหญ่ หมู่ 11 กล่าวถึงโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง  "1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง"ว่า กลุ่มฯ ได้พัฒนามาในระดับหนึ่ง ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง เหลือแค่ปลายทาง ก็จะนำพากลุ่มไปในทิศทางที่ดี เกษตรมูลค่าสูง เป็นอีกหนึ่งโครงการที่อยากเข้าร่วม และสามารถขายคาร์บอนเครดิตในนาข้าวได้ สามารถแปรรูปในการจำหน่ายข้าวลดโลกร้อน ผ่านขบวนการผลิตคาร์บอนต่ำเป็นของกลุ่มเอง รวมถึงข้าวปลอดภัย ซึ่งข้าวที่ปลูกในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวน้ำตาลต่ำ กข. 43 ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และข้าวปทุมธานี 1 


ที่ผ่านมาส่วนตัวได้มีการขายเครดิตคาร์บอนไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการนำร่อง โดยได้รับองค์ความรู้มาจากกรมการข้าว โดยโครงการไทยไรซ์ นามา ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติสุพรรณบุรี ทำให้เราสามารถไปเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ และ สามารถขายคาร์บอนเครดิตให้กับบริษัทเอกชนที่สนใจ และมีหน่วยงาน ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาให้ความรู้เพิ่มเติมการทำนาลดโลกร้อน ช่วยลดการเกิดมีเทน เกิดก๊าซต่าง ๆ และกลุ่มจะต่อยอดผลิตภัณฑ์ข้าวเป็นข้าวลดโลกร้อน ข้าวคาร์บอนต่ำ ส่งออกไปยังประเทศฮ่องกง ผ่าน บริษัท โตมี ฟู้ดส์ แอนด์ โปรดักส์ จำกัด 

ข้าวลดโลกร้อน ช่วยในเรื่องการประหยัดน้ำ ลดการเกิดก๊าซมีเทน 30% ในการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง สามารถทำให้เพิ่มผลผลิตข้าวได้ 20% ลดการใช้น้ำ 50%  ทำให้เราขยายตลาดได้มากยิ่งขึ้น และต่อยอดไปในส่วนของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยทำเป็นศูนย์เรียนรู้ลดโลกร้อน เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย จัดตั้งโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทำ MOU กับ บริษัท นิปปอน ทราเวล ทัวร์ ของประเทศญี่ปุ่น โดยจะนำนักท่องเที่ยวและนักศึกษาของญี่ปุ่นมาศึกษาดูงานในเรื่องของการทำนาลดโลกร้อน 

“ต้องขอบคุณกรมการข้าว ให้คำแนะนำทุกเรื่อง ตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนที่จะเป็นแปลงใหญ่ ทั้งให้ความรู้เรื่องมาตรฐาน GAP เมล็ดพันธุ์  การใช้ปุ๋ย การปลูก การผลิต การดูแลจัดการผลผลิตทุกอย่าง และเรื่องการตลาด เรียกได้ว่า กรมการข้าวเป็นพี่เลี้ยงที่ดีที่สุด ช่วยสนับสนุนผลักดันให้กลุ่มมาถึงทุกวันนี้ ส่งเกษตรกรไปอบรมความรู้อย่างต่อเนื่อง  เป็นหน่วยงานที่ดูแลเกษตรในทุกเรื่อง และเราก็โชคดี ที่ได้กรมการข้าวมาสนับสนุนให้ผลิตหรือทำเป็นเกษตรมูลค่าสูงได้” นางเสาวนีย์ กล่าว