“สมศักดิ์” มอบ สสส.ให้ความรู้วงกว้าง ห่วงคนไทยเป็นโรคร้ายจากค่าฝุ่น PM 2.5 เผยตัวเลขป่วยด้วยมลพิษทางอากาศสูง 12 ล้านคน เฉพาะเด็กรักษารายวันเฉลี่ย 2,760 ราย พบ 3 จังหวัด “เชียงใหม่-กรุงเทพฯ-น่าน” แนวโน้มอ่วม หนุนใช้ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด แก้ปัญหาฝุ่นยั่งยืน เตือนบุหรี่ไฟฟ้าผสมยาเคเกลื่อน ระบาดหนักกลุ่มวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวกลางคืน แค่เสพก็ติดคุกได้

วันที่ 23 ม.ค.2568 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 1/2568 ว่า ที่ประชุมรับทราบแผนการดำเนินงานการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ของ สสส. โดยเฉพาะสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ค่าเกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ พบว่ามีประชากรอยู่ในพื้นที่ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน กว่า 38 ล้านคน ในจำนวนนี้ 15 ล้านคน เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และ 6 ล้านคน เป็นเด็กและเยาวชน มีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศสูงถึง 12 ล้านคน ส่งผลให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมาตนได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้หารือถึงมาตรการดูแลประชาชน เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า จึงขอให้ สสส. ดำเนินการร่วมขับเคลื่อนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ตามแผนงานอย่างเข้มข้น

“ในการยกระดับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ระยะยาว จะต้องดำเนินการบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จึงขอให้ สสส.และภาคีเครือข่ายหนุนเสริมการดำเนินงาน ร่างพ.ร.บ.บริหารเพื่อจัดการอากาศสะอาด ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ. มุ่งเน้นบูรณาการมิติด้านสุขภาพและสังคมเพื่อสร้างสังคมอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ และเป็นมาตรการกลไกแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างเป็นระบบ ตามมาตรการดังกล่าว เพื่อจัดการอากาศสะอาดอย่างยั่งยืน” นายสมศักดิ์ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปี 2566 ประเทศไทยมีฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานใน 58 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร และน่าน ซึ่งสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่งผลให้อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 10,521.9 ต่อแสนประชากรในปี 2563 เป็น 17,245.2 ต่อแสนประชากรในปี 2566 โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 0-9 ปี ที่ร้อยละ 58.2 อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และมีเด็กเข้ารับการรักษาเฉลี่ย 2,670 รายต่อวัน ซึ่งการได้รับฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว ที่เจ็บป่วยเล็กน้อยถึงโรคร้ายแรง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ และมะเร็งปอด

นายสมศักดิ์ ได้ให้ข้อสังเกตถึงการระบาดของบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า ยังคงเป็นเรื่องที่มีความกังวล โดยเฉพาะปัจจุบันมีบุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เรียกว่า “พอตเค” หรือ “หัวน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าผสมยาเค” ซึ่งเป็นยาเสพติดรูปแบบใหม่ที่มากับบุหรี่ไฟฟ้า ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวกลางคืน ซึ่งสารเคตามีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 และใช้ในทางการแพทย์ แต่ปัจจุบันมีการลักลอบนำสารเคตามีนไปผสมแทนหัวน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อหวังฤทธิ์ในการหลอนประสาท ผ่านวิธีการสูดดม หรือสูบควัน และผู้เสพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอให้ สสส. รณรงค์ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ทุกภาคส่วน เน้นบูรณาการความรู้ให้เด็กและเยาวชนรู้ทันภัยบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น

ในการประชุม นายสมศักดิ์ ได้เห็นชอบแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจร โดยในช่วง 10 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ 2568 ที่ผ่านมา มียอดอุบัติเหตุทางถนนสะสม 2,467 ครั้ง เสียชีวิต 436 คน บาดเจ็บ 2,376 คน สาเหตุหลัก คือ ขับเร็ว ดื่มแล้วขับ และไม่ใส่อุปกรณ์นิรภัย จึงขอให้ สสส. ดำเนินงานบูรณาการอย่างเข้มข้นร่วมกับ สอจร.กลาง และประสานความร่วมมือกับเครือข่าย Road Safety ในพื้นที่เสี่ยงสูง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บลงร้อยละ 50 ภายในปี 2573