วันที่ 22 ม.ค.2568 เวลา 16.45 น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ว่า ที่ประชุมมีการหารือมาตรการป้องกันและการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มีค่าเกินมาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ โดยนำข้อมูลพื้นที่มีฝุ่นค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในรอบ 24 ชั่วโมง เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือเป็นพื้นที่สีแดง ติดต่อกันเกิน 3 วัน แต่เนื่องจากขณะนี้ ยังไม่มีพื้นที่ใดมีค่าเฉลี่ยเกินกำหนด จึงไม่มีการเสนอ ครม.เพื่อประกาศพื้นที่ พื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม
แต่จะเสนอ ครม.ให้มีการใช้มาตรา 35 ตาม พ.ร.บ. ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร พิจารณาพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 มาก มายังอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อขอให้ออกประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมโรค ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวได้เลย เพื่อที่จะได้ออกประกาศขอความร่วมมือ เวิร์คฟอร์โฮม (Work from home) ทำงานผ่านระบบออนไลน์ และงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง และขอความร่วมมือกิจการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่นหยุดพักดำเนินกิจกรรม ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีบทลงโทษ เป็นเพียงขอความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกหน่วยงาน ร่วมมือกันแก้ปัญหาฝุ่น นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ยังได้เปิดศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพฝุ่น PM 2.5 เพื่อสื่อสารสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชน โดยจะมีการแถลงข่าวทุกวัน
เมื่อมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ควบคุมโรคแล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการดำเนินการ ดังนี้ 1.สนับสนุนหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง (เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ หอบหืดและถุงลมอุดกั้นเรื้อรัง โดยพิจารณาชนิดหน้ากากตามที่กรมควบคุมโรคแนะนำ 2. ออกประกาศ Work from home ทำงานผ่านระบบออนไลน์ และงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง 3.จัดทำศูนย์รองรับการอพยพประชาชนกลุ่มเปราะบางและผู้ป่วยติดเตียง ให้เข้าพักคอยจนกว่าสถานการณ์จะปกติ 4.ขอความร่วมมือเกษตรกร เจ้าของสถานประกอบกิจการ และผู้ประกอบการขนส่ง ดำเนินการลดฝุ่น ในส่วนของโรงพยาบาล ให้จัดทำห้องปลอดฝุ่นสำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ห้องเด็กแรกคลอด ห้องพักหลังคลอด เป็นต้น และแจ้งการพบผู้ป่วยโรคจากฝุ่น PM2.5 และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ใช้กลไกทางกฎหมาย ในการแจ้ง รายงาน และสอบสวนโรคจากฝุ่น PM2.5
เมื่อถามว่ากระทรวงสาธารณสุข จะเป็นต้นแบบ Work from home หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หากหน่วยงานราชการ กรม กอง อธิบดี หรือผู้บริหาร เห็นว่าทำงานไม่เสียหาย ก็ให้ WFH ได้ บางครั้งก็อาจทำงานที่บ้านได้มากกว่า แต่ในส่วนราชการ กระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ ข้าราชการส่วนใหญ่บอกว่ามาทำงานที่กรมดีกว่า เพราะได้ฝุ่นน้อยกว่าอยู่บ้าน
ขณะที่นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ด้านการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แถลงข่าวว่า วันนี้เป็นการแถลงข่าวครั้งแรกของศูนย์ข้อมูลฯ ตามที่มีปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมากในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ปัจจุบันภาคส่วนต่างๆ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้กับประชาชนอยู่ ขณะเดียวกัน สธ. ได้เร่งสื่อสารเพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก
นพ.วรตม์ กล่าวว่า ภาพรวมของฝุ่น PM2.5 ยึดจากเกณฑ์ความเข้มข้นเฉลี่ยของฝุ่น PM2.5 ในช่วง 24 ชั่วโมง ข้อมูล ณ วันที่ 22 ม.ค. 2568 แบ่งเป็น 5 กลุ่มจังหวัด ดังนี้ 1.จังหวัดกลุ่มสีฟ้า คุณภาพอากาศดีมาก มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ระหว่าง 0-15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่า ไม่มีจังหวัดใดอยู่ในกลุ่มนี้ 2.จังหวัดกลุ่มสีเขียว คุณภาพอากาศดี มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ระหว่าง 15-25 มคก.ลบ.ม. รวม 11 จังหวัด แม่ฮ่องสอน สงขลา ปัตตานี สกูล ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พัทลุง นราธิวาส นครศรีธรรมราช ยะลา และตรัง
3.จังหวัดกลุ่มสีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ระหว่าง 25-37.5 มคก.ลบ.ม. รวม 5 จังหวัด 4.จังหวัดกลุ่มสีส้ม คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ระหว่าง 37.5-75 มคก.ลบ.ม. รวม 51 จังหวัด และ 5. จังหวัดกลุ่มสีแดง คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ระหว่าง 75 มคก.ลบ.ม.ขึ้นไป รวม 9 จังหวัด
“จะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่เป็นจังหวัดสีส้มจะกระจุกตัวอยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือบางส่วน และภาคตะวันตก สิ่งที่น่าสนใจคือจังหวัดที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยของฝุ่น PM2.5 มากกว่า 75.1 มคก.ลบ.ม. ติดต่อกัน 2 วันขึ้นไป ได้แก่ เพชรบุรี สุโขทัย สระบุรี สมุทรสาคร และกรุงเทพฯ ซึ่งประชาชนจะต้องเริ่มประเมินสุขภาพตัวเอง เช่น มีอาการแสบตา มีอาการทางระบบหายใจ” นพ.วรตม์ กล่าวว่า