ตามการพยากรณ์อากาศในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ต่างประมาณการกันว่า ฤดูหนาวปีนี้ หนาวหนัก และหนาวนาน ด้วยเหตุปัจจัยจากปรากฏการณ์ลานีญา
อย่างประเทศไทยเรา ก็พยากรณ์อากาศกันว่า อากาศหนาวจะลากยาวไปถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์กันเลยทีเดียว
ก็ทำให้ได้มีการคำเตือนถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วยประการต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน” หรือที่เรียกกันจนฮิตติดปากว่า “ฝุ่นพีเอ็ม 2.5” และการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัด
นอกจากนี้ ในบรรดาประเทศที่เผชิญกับสภาพอากาศหนาวจัดยิ่งกว่าไทยเรา ที่ถึงขั้นหิมะตกลงมาโปรยปรายจนขาวโพลนนั้น เหล่าผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ โดยเฉพาะจิตแพทย์ ก็ออกมาเตือนในเรื่องโรคซึมเศร้าชนิดหนึ่งที่ผู้คนในพื้นที่ที่เผชิญกับสภาพอากาศหนาวจัดดังกล่าวจำนวนไม่น้อยมักจะป่วยด้วยโรคซึมเศร้าชนิดนี้ เรียกว่า “โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล” หรือที่หลายคนเรียกสั้นๆ ว่า “แซด” ตามชื่อย่อคำศัพท์ภาษาอังกฤษของโรคซึมเศร้าชนิดนี้ นั่นคือ “Seasonal Affective Disorder – SAD”
ตามรายงานทางการแพทย์จากบรรดานักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ระบุว่า แต่ละปีมีผู้คนจำนวนนับล้านคนเลยทีเดียว ที่ต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือแซด นี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูกาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูหนาว โรคซึมเศร้าตามฤดูกาลมีความรุนแรงยิ่งกว่าฤดูไหนๆ เช่น ฤดูร้อน เพราะมันส่งผลกระทบต่ออะไรหลายๆอย่างของมนุษย์เรา อาทิต่อร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกอารมณ์ต่างๆ ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจลงลึกไปถึงนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์เราได้เลยทีเดียว
ว่ากันถึงโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือแซดนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ระบุว่า ก็มีมานานแล้ว อาจจะคู่กับมนุษย์เรากับฤดูกาลต่างๆ ที่เปลี่ยนผ่านไปแต่ละฤดูที่ว่า แต่เริ่มมีการอธิบายอย่างเป็นจริงเป็นจัง เมื่อช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง
โดยน่าจะเริ่มขึ้นเมื่อปี 1984 (พ.ศ. 2527) จากที่คณะนักวิจัย นำโดย ดร.นอร์แมน โรเซนธาล จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ ให้คำอธิบายเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือแซด เป็นครั้งแรก พร้อมกับบัญญัติตัวย่อ ของคำว่า “แซด (SAD)” เพื่อให้เรียกกันสั้นๆ และจดจำกันได้ง่าย
ตลอดระยะเวลานับจากนั้น ก็มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลนี้มาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดปัจจุบัน คณะนักวิทยาศาสตร์ ก็กำลังศึกษาว่า โรคซึมเศร้าตามฤดูกาลนั้น อาจมีความเชื่อมโยงเกี่ยวกับเซลล์ที่มีคุณลักษณะเฉพาะในอวัยวะดวงตาของมนุษย์เรา ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยน “แสงสีน้ำเงิน” ของแสงแดดในแถบสเปกตรัมให้เป็นสัญญาณประสาท ที่อาจจะส่งผลต่ออารมณ์และความตื่นตัวของมนุษย์เราได้อย่างไร?
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงแสงสีน้ำเงินแล้ว แสงแดดจากดวงอาทิตย์ ก็อุดมไปด้วยแสงสีนี้ เมื่อเซลล์ที่มีคุณลักษณะเฉพาะในอวัยวะดวงตาของมนุษย์เรา ดูดซับแสงนี้เข้ามา ก็จะไปกระตุ้นศูนย์ควบคุมการตื่นตัวในอวัยวะสมองของมนุษย์ และจะส่งผลให้มนุษย์มีความรู้สึกตื่นตัวมากขึ้น รวมทั้งทำให้รู้สึกความสุขมากขึ้นได้ด้วย คือ ทำให้ไม่ซึมเศร้า นั่นเอง แต่เมื่อระดับแสงแดดในช่วงฤดูหนาวมีไม่เพียงพอต่อการทำงานของร่างกายจนไม่สมดุล ก็อาจจะส่งผลให้หลายคนนำไปสู่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้าขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาวิจัยของบางสถาบัน เช่น คลินิกวิจัยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลในช่วงหน้าหนาวของมหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐฯ ระบุว่า นอกจากปัจจัยเรื่องแสงแดดที่มีไม่เพียงพอในช่วงฤดูหนาวแล้ว ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลจำนวนหนึ่ง ก็มาจากปัจจัยเรื่องเซลล์ในร่างกายของแต่ละคนด้วย โดยพบว่า ความไวต่อแสงของเซลล์ในอวัยวะดวงตาของคนบางคนตอบสนองต่อแสงได้ไม่ดีอยู่แล้ว กอปรกับแสงแดดในช่วงฤดูหนาวมีน้อย ก็ทำให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลได้
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลบางราย ก็ใช้วิธีการบำบัดด้วยแสง เรียกว่า พลังงานแสงบำบัด (Light Therapy) ด้วยการใช้อุปกรณ์สร้างแสงสว่างมากกว่าแสงทั่วไปในอาคาร 20 เท่า มาช่วยบำบัดรักษา
โดยวิธีการนี้ ส่วนใหญ่จะใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ในพื้นที่ที่มีแสงแดดน้อย หรือแสงแดดส่องมาไม่ถึง จากสภาพอากาศหนาวจัด หิมะตกหนักโปรยปราย แต่ถ้าเป็นไปได้ ทางแพทย์ต้องการให้ผู้ป่วยรับแสงแดดธรรมชาติจากดวงอาทิตย์มากกว่า เพราะนอกจะใช้ประโยชน์จากแสงแดดมาช่วยบำบัดรักษาแล้ว แสงแดดจากดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเช้า ก็มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์เราเป็นอย่างมาก ทั้งในการสร้างวิตามินดีให้แก่ร่างกาย ช่วยให้กระดูกของเราแข็งแรง ตลอดจนช่วยลดความเครียด ต่อต้านภาวะซึมเศร้าได้ด้วย อันเป็นผลจากแสงแดดช่วยให้ร่างกายของมนุษย์เรา สังเคราะห์สารเซโรโทนินเพิ่มมากขึ้น นั่นเอง มาช่วยยับยั้งสารเมลาโทนิน ที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีสารชนิดนี้จำนวนมาก โดยสารเซโรโทนิน บางคนก็เรียกว่า สารแห่งความสุข
อย่างไรก็ดี ในฤดูหนาวของบางประเทศ มีแสงแดดไม่เพียงพอ ก็เลยต้องใช้อุปกรณ์สร้างแสงสว่างเข้ามาช่วย โดยทางคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล ระบุว่า แสงสว่างเพื่อใช้ในการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลข้างต้น ต้องมีความสว่างมากกว่าแสงสว่างระดับทั่วไปในอาคารถึง 20 เท่า ซึ่งในทางการวิจัย มีข้อแนะนำว่า ระดับของแสงสว่างควรอยู่ที่ประมาณ 10,000 ลักซ์ (Lux) เป็นเวลานาน 30 นาที ในเวลาเช้าของทุกวัน โดยลักซ์ (Lux) ที่ว่านั้น ก็คือ หน่วยวัดค่าความสว่างหรือความเข้มของแสงเมื่อตกกระทบบนพื้นผิว มีต่อย่อ แอลเอ็กซ์ (LX)
ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยของคลินิกวิจัยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลในช่วงหน้าหนาวแห่งมหาวิทยาลัยเยลข้างต้น เปิดเผยว่า จากกลุ่มตัวอย่างที่ใช้แสงสว่างที่มีความเข้มระดับข้างต้นมาบำบัด เป็นเวลา 30 นาทีในเวลาเช้าของทุกวันแล้ว ส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาแต่ประการใด
นอกจากการใช้แสงบำบัดแล้ว ที่มหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์ ประเทศสหรัฐฯ เช่นกัน ก็ใช้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล ที่มีชื่อว่า การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม หรือซีบีที (CBT : Cognitive Behaviorla Therapy) โดยผู้ป่วยปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม เช่น ให้ออกมานอกบ้านทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงหน้าหนาวกันเสียบ้าง ก็จะช่วยบำบัดได้เป็นอย่างดีเช่นกัน