“สมศักดิ์” ลงนามคำสั่งถึง สธ.ทั่วประเทศ รับมือฝุ่น PM 2.5 หลังเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เข้ม 5 มาตรการ “ให้ศูนย์ปฎิบัติฉุกเฉินด้านการแพทย์เตรียมพร้อม-เร่งประชาสัมพันธ์ภัยสุขภาพ- สสจ.ลงพื้นที่ดูกลุ่มเปราะบาง-เพิ่มห้องปลอดฝุ่น มุ้งสู้ฝุ่น-แจกหน้ากากอนามัย“
วันที่ 21 ม.ค. 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันนี้ เวลา 08.00 น. ตนได้ประชุมร่วมกับ นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เพื่อหารือแนวทางการดูแลประชาชนในเรื่องฝุ่น PM 2.5 จึงได้ลงนามบันทึกข้อความถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ หรือ ฝุ่นละออง PM 2.5 เนื่องจากตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ เรื่องการมอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ประกอบกับนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 โดยได้รับฟังแนวทางการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานว่า ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างไรบ้าง พร้อมมอบหมายที่ประชุมช่วยอัพเดทข้อมูล ผ่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงผลการดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ เนื่องจากปัญหาฝุ่น PM เป็นปัญหาที่สำคัญมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงขอแจ้งมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ดังนี้ 1.ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ประจำปี 2568 เตรียมความพร้อม และดำเนินการตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 2172/2567 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2567 อย่างเคร่งครัด 2.เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกและสร้างความรอบรู้เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM2.5) ให้กับประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพ และการป้องกันตนเองจากภาวะฝุ่น PM 2.5 รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการสื่อสารให้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น
“3.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จัดทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ลงพื้นที่ดูแลกลุ่มเสียง กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดูแลประชาชนในพื้นที่ 4.ขยายบริการด้านการแพทย์สาธารณสุขให้ครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูง โดยเพิ่มบริการห้องปลอดฝุ่น และมุ้งสู้ฝุ่น รวมทั้งจัดตั้งคลินิก PM 2.5 การให้คำปรึกษาออนไลน์ในช่องทางต่างๆ และ 5.ให้สนับสนุนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย น้ำเกลือ กระบอกฉีดยาสำหรับล้างจมูก จึงขอให้แจ้งหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติต่อไปด้วย“ รมว.สาธารณสุข กล่าว