สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2566 ครั้งที่ 33 ในวันอังคาร ที่ 21 มกราคม 2568 เวลา 09.30 น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


วันนี้ เวลา 09.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2566 ครั้งที่ 33 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,426 ราย ระดับปริญญาตรี จำนวน 2,348 ราย ระดับปริญญาโท จำนวน 58 ราย และระดับปริญญาเอก จำนวน 20 ราย และในโอกาสนี้ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้อนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖6 ให้แก่บุคคลผู้ที่มีผลงานทางวิชาการดีเด่นในสาขาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัย ทำคุณประโยชน์อย่างยิ่งแก่มหาวิทยาลัยหรือประเทศชาติหรือนานาชาติ สมควรได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม ผลงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางอันส่งผลดีต่อการพัฒนาองค์ความรู้ขององค์กร สังคม ประเทศชาติหรือนานาชาติ จำนวน 3 ราย ได้แก่ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงกโร, สุทธิพันธุ์) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนา คณะศิลปศาสตร์ เภสัชกรปราโมทย์  ชลยุทธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และ พลเอกชูชัย  สินไชย ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ และอนุมัติรางวัลรัตโนบล ประจำปี ๒๕๖7 ให้แก่บุคคลที่มีผลงานทางวิชาชีพที่มีคุณภาพอันเป็นที่ยอมรับของชุมชน สังคม ประเทศชาติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีคุณงามความดีที่ได้รับการยกย่องในระดับชาติหรือนานาชาติ อุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและมีความประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคล จำนวน 1 ราย ได้แก่ รองศาสตราจารย์อุทิศ  หิมะคุณ ประเภทบุคคล คณะวิศวกรรมศาสตร์ 


โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า... ปัจจุบัน  กล่าวกันว่า  เป็นยุคที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี  และสิ่งต่าง ๆ  เรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ  ก็มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว.  การที่จะดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพการงาน  ในสถานการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดีนั้น  บุคคลจะต้องรู้จักปรับตัวโดยเริ่มจากการทำความคิดความเห็นของตนให้ถูกต้องก่อน.  กล่าวคือ  ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผันผวน  หรืออุปสรรคปัญหาใด ๆ  เกิดขึ้นก็ตาม  แต่ละคนพึงเห็นว่าเป็นโอกาส  ที่จะได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าขึ้นอยู่เสมอ.  หากบุคคลเชื่อมั่นในศักยภาพของตน และเชื่อว่าความฉลาดสามารถในด้านต่างๆ  เป็นสิ่งที่พัฒนาให้ดีขึ้นได้  ด้วยการพากเพียรฝึกฝนอย่างมั่นตั้งใจ โดยใช้วิธีการที่ดีที่ถูกต้องแล้ว  แต่ละคนก็จะมีกำลังกาย  กำลังใจ  กำลังปัญญา  กล้าแข็งขึ้นและสามารถคิดเห็นแนวทางที่จะประพฤติตนปฏิบัติงาน  ให้บรรลุถึงความสำเร็จและความเจริญได้โดยไม่หวั่นไหวย่อท้อ.  จึงขอให้บัณฑิตทุกคนนำสิ่งที่พูดนี้ไปพิจารณาและยึดถือปฏิบัติ  เพื่อความสุขความสำเร็จในชีวิตและกิจการงานต่อไปภายหน้า

จากนั้น เสด็จไปยังบริเวณฉายพระฉายาลักษณ์ ร่วมกับคณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะทำงาน จำนวน 2 ชุด เสด็จ ฯ ไปยังห้องจัดนิทรรศการทอดพระเนตรนิทรรศการ “ธรรมชาติวิทยากับการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น” ประทับพระราชอาสน์ ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีไทย เพลง “เจ้าฟ้าหญิงมิ่งขวัญชาวอุบล” เสด็จโถงอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เพื่อให้นักศึกษาทุนพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เข้าเฝ้าฯ จำนวน 10 ราย และในปีนี้ พระครูโกศลสิกขกิจ เจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา ทูลเกล้าฯ ถวาย “รูปหล่อหลวงปู่สรวง และผ้าไหมโศรฎศรีไพร” รองศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์  ประสิทธิภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทูลเกล้าฯ ถวาย “ผ้ากาบบัวจกดาว ลายสิริวชิราภรณ์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยณัฐ  สร้อยคำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและพันธกิจสัมพันธ์ ทูลเกล้าฯ ถวาย “หนังสือ จากอ่าวเบงกอลสู่ BIMSTEC : บิมสเทคปริทัศน์ผ่านรัฐสมาชิก” รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิชัย  สมานชาติ อาจารย์ประจำคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวาย “หนังสือ Shamu-Sarasa' and 'Shamuro-zome': Asian Textile Heritage of India, Thailand, and Japan” นางมยุรี  โสมอินทร์ ข้าราชการบำนาญ/ลูกศิษย์วัดไพรพัฒนา ทูลเกล้าฯ ถวาย “ผ้าไหมลายละเบิก” นายนครธาดา  จำปาเรือง นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวาย “เชี่ยนหมากไม้ยอป่า” นายอรุณศักดิ์  กำจร บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวาย “กำไลข้อมืองาช้าง และแหวนเงินลงยา” นายณัฏฐกิตติ์  โรจนโภคินเดชะกุล นักศึกษาคณะบริหารศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวาย “หมอนขิดย้อมครามสีธรรมชาติ ลายพระยาทรงช้าง” และ นางสาวพัชราภรณ์  จันทร์ทัย ผู้แทนบัณฑิต ทูลเกล้าฯ ถวาย “สูจิบัตร และแก้วที่ระลึก” 

ในการดำเนินการที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเปิดการเรียนการสอนมาแล้ว 33 ปี จัดการเรียนการสอนจำนวน 82 หลักสูตร มีนักศึกษารวมทั้งสิ้นจำนวน 18,000 กว่าคน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีพันธกิจในการสร้างบัณฑิตที่มีทักษะสูงของแต่ละวิชาชีพเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม รวมทั้งการมีทักษะเป็นผู้ประกอบการ สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับสังคมทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีผ่านการบริการวิชาการที่ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ สังคมและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอีสานใต้อย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียน ที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สังคม ภายใต้ปรัชญา “มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสร้างสติและปัญญาแก่สังคมบนพื้นฐานความพอเพียง”