ชาวบ้านเครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบล-แม่น้ำโขง บุกเวทีประชาพิจารณ์สร้างเขื่อนสานะคาม ซึ่งจัดโดย สทนช.เพราะเกรงผลกระทบน้ำท่วม และการประกอบอาชีพของคนลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำโขง

ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อ.เมืองอุบลราชธานี ชาวบ้านเครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบล-แม่น้ำโขง ประมาณ 150 คน โดยการนำของนายจำนง จิตรนิรัตน์ และ น.ส.สดใส สร่างโศก ผู้ประสานงานรวมตัวประท้วงการจัดเวทีรับฟังความเห็นการสร้างเขื่อนสานะคามของ สปป.ลาว ซึ่งจะสร้างกั้นแม่น้ำโขงที่แขวงเวียงจันทร์ แล้วส่งผลกระทบมาถึงฝั่งไทยตามลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งเวทีดังกล่าวจัดขึ้นโดย สทนช. เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำสาขาของจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดอุบลราชธานี

ทำให้ชาวบ้านเครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบล-แม่น้ำโขง ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนดังกล่าว พากันมารวมตัวประท้วง โดยต้องการเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นและต่อต้านการสร้างเขื่อนสานะคาม ต่อมาทาง สทนช.ได้เปิดให้ทางกลุ่มส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นจำนวน 20 คน 

ขณะเดียวกันทางกลุ่มก็ได้มีการอ่านแถลงการณ์ต่อต้านการก่อสร้างเขื่อน โดยระบุว่า เขื่อนดังกล่าว จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวทวิทยาของลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำสาขา ทำให้คนตามลุ่มน้ำขาดอาชีพ รวมทั้งการสร้างเขื่อนดังกล่าว แม้จะสร้างอยู่ในเขตประเทศลาว แต่เงินลงทุนเป็นของนักลงทุนชาวไทย เพื่อขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นอีกจากการลงทุนสร้างเขื่อน จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง พร้อมกับยื่นแถลงการณ์ให้กับทาง สทนช.เพื่อนำความเห็นคัดค้านของทางกลุ่ม เข้ารวมอยู่ในเวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้ โดยมีว่าที่ร้อยตรีกรกฎ ประเสริฐวงษ์ รอง ผวจ.อุบลราชธานี และ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช.เป็นผู้รับหนังสือคัดค้าน

ด้านนายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบล-แม่น้ำโขง กล่าวว่า การทำเวทีรับฟังความเห็นมีความสำคัญต่อพี่น้องที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำ โดยเฉพาะที่จังหวัดอุบลราชธานี จะมีความพิเศษกว่าที่อื่น เพราะแม่น้ำทุกสายจะไหลมารวมกัน  ถ้ามีการสร้างเขื่อนสานะคามแล้ว ก็จะตามมาด้วยเขื่อนภูงอยที่อยู่ห่างจากจังหวัดอุบลราชธานี เพียง 60-70 กิโลเมตร เวทีต่างๆจึงต้องรับฟังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอื่นๆ เพราะพี่น้องที่อาศัยตามลุ่มน้ำชี แม่น้ำมูล เซบก เซบาย จะถูกกระทบทั่วถึงกันหมด

ส่วน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช.กล่าวในเรื่องนี้ว่า ก่อนจะมีการดำเนินโครงการสร้างเขื่อนสานะคาม มีผลการศึกษามีบริเวณไหนที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะตลิ่ง รวมทั้งแม่น้ำโขงยังมีความหลากหลายชีวภาพทั้งพืชน้ำ พันธุ์ปลา แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศก็ทำให้แม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นมีอย่างแน่นอน เพียงแต่จะมากหรือน้อย  โดยเรื่องของพันธุ์ปลาที่จะขึ้นไปวางไข่ ก็ต้องมีการสร้างบันไดให้ปลาผ่าน ซึ่งต้องทำให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจที่มีผลกระทบในการประกอบอาชีพ ทำให้รายได้ลดลงก็จะมีการให้ข้อมูลในวันนี้ โดยเจ้าหน้าที่ของ MRCS และผู้บริหารของทางการลาวก็มาร่วมในเวที เพื่อตอบข้อซักถามอยากทราบด้วย