ในปี 2567 ที่ผ่านมา กรมประมงและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเผชิญหน้ากับการควบคุมจำกัดปลาหมอคางดำ สัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกรานระบบนิเวศไทยอย่างรุนแรง ด้วยหลากหลายมาตรการ ทั้งการเดินหน้าจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ การปล่อยปลานักล่า เช่น ปลากะพงและปลาอีกงกำจัดลูกปลา รวมถึงการนำปลาที่จับได้มาใช้ประโยชน์ เช่น การผลิตปลาป่น ทำปุ๋ย หรือแปรรูปเป็นอาหารต่างๆ จนปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง คืนสมดุลระบบนิเวศ
กรมประมง ได้กำหนดแผนปฏิบัติการปลาหมอคางดำครอบคลุม 5 ขั้นตอนสำคัญ เพื่อจัดการปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและโปร่งใส โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็นมาตรการเร่งด่วน เริ่มจากการควบคุมและลดประชากรปลาหมอคางดำ ดำเนินการกำจัดปลาในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน พร้อมสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความเสี่ยง นอกจากนี้ยังสร้างความตระหนักรู้และการประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของปลาหมอคางดำและแนวทางการแก้ไขแก่ประชาชนผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงสร้างเครือข่ายและบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง
มาตรการระยะกลางคือการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำ โดยการปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง และปลาช่อน รวมถึงพันธุ์สัตว์น้ำอื่น ๆ ให้เหมาะสมกับแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยตั้งเป้าปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัวในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าปลาหมอคางดำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ปลาป่น น้ำหมักชีวภาพ และเมนูอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชน
มาตรการระยะยาวคือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี โดยดำเนินการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี เช่น การเหนี่ยวนำโครโมโซม 4N เพื่อทำให้ปลาหมอคางดำเป็นหมัน การใช้ฟีโรโมน และแสงสีในการควบคุมประชากรปลาอย่างยั่งยืน โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2567-2570 และนวัตกรรมการควบคุมเชิงนิเวศ ใช้เทคโนโลยีสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาเพื่อการกำจัดที่ตรงเป้าหมาย ลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม
การดำเนินงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบความสำเร็จในการลดจำนวนปลาหมอคางดำอย่างมีนัยสำคัญ เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ลดจำนวนปลาจาก 60 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร เหลือเพียง 25 ตัว จังหวัดเพชรบุรี ลดจำนวนจาก 80 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร เหลือไม่ถึง 40 ตัว ด้านจังหวัดสมุทรสาคร ปลาลดลงไป 60-70% ขณะที่จังหวัดสมุทรสงคราม ปลาที่จับได้เป็นปลาขนาดเล็ก และจับปลาหมอคางดำใน 18 จังหวัด ได้มากกว่า 3 ล้านกิโลกรัม ในจำนวนนี้นำไปทำเป็นปลาป่นแล้ว 2 ล้านกิโลกรัม ส่วนที่เหลือทำน้ำหมักชีวภาพ
สวนทางกับรายงานข่าวว่า ปลาหมอคางดำกลับมาระบาดหนัก นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ยืนยันว่า กรมประมงยังเดินหน้ากำจัดปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง จากเดิมพบการระบาดใน 19 จังหวัด ล่าสุดพบว่า มี 3 จังหวัดไม่พบการระบาดแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 16 จังหวัด จากวิกฤตในธรรมชาติสีแดงก็ลดลงมาอยู่ที่สีเหลือง หรือสีเขียวแล้ว ส่วนในบ่อเลี้ยงของเกษตรกรที่พบปลาหมอคางดำหลุดเข้าไปก็ต้องกำจัดเพิ่มเติม ในเรื่องนี้ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ผลักดันแก้ปัญหา โดยกำจัดปลาหมอคางดำจากบ่อเกษตรกรและธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีหนังสือไปยังกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง เพื่อให้เห็นชอบให้ใช้งบจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 60 ล้านบาท มาดำเนินการ
ในการประชุมคณะกรรมการปลาหมอคางดำ มีวาระเพื่อให้เห็นชอบขอใช้งบกลางเร่งด่วนเพิ่มเติมจากการกำจัด เช่น การปล่อยปลานักล่า การใช้กากชากำจัดปลาหมอคางดำให้ลดลง และดำเนินมาตรการทำปลาหมัน โดยได้ลูกปลาจำนวนหนึ่งพร้อมมาทดสอบปล่อยในแหล่งอิงธรรมชาติวิจัยที่จังหวัดเพชรบุรีในปลายเดือนมกราคม เพื่อทดสอบการทำให้ปลาหมอคางดำเป็นหมันต่อไป
ส่วนข่าวที่เกษตรกรสะท้อนว่า การจับปลาหมอคางดำขายในราคากิโลกรัมละ 3-4 บาท นั้นไม่คุ้มทุน อธิบดีกรมประมงให้ข้อมูลว่า ขณะนี้เป็นรอยต่อของโครงการที่รองบประมาณ ซึ่งกรมประมงก็พยายามเร่งรัดอย่างเต็มที่แล้ว แต่การขายปลาหมอคางดำได้ไม่ถึงกิโลกรัมละ 10 บาท นั้น น่าจะเป็นการขายนอกโครงการฯ ที่รัฐดำเนินการมากกว่า
ทั้งนี้ เกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ตั้งข้อสังเกตหลังพบปลาหมอคางดำมากขึ้นจากน้ำท่วมภาคใต้ จนทำให้เกิดความกังวลว่าจะระบาดหนักขึ้นในอนาคต อธิบดีกรมประมงขอยืนยันว่าพฤติกรรมของปลาหมอคางดำชอบอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำ ภาวะน้ำท่วมคือน้ำจืดที่ไหลจากแผ่นดินลงสู่ทะเล ดังนั้น ปัจจัยดังกล่าวไม่ใช่ปัจจัยเร่งให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้น ขณะที่ข้อมูลจากเจ้าของวังปู หอย หรือปลากะพงบางราย ให้ข้อมูลว่า ไม่เดือดร้อนจากปัญหาปลาหมอคางดำ เพราะมีแหล่งรับซื้อกิโลกรัมละ 10 บาท เพื่อนำไปบดเป็นอาหารเลี้ยงปู หรือปลากะพง นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการบางรายนำไปแปรรูปเป็นปลาแดดเดียวขายได้ราคาเช่นกัน
กรมประมงยืนยันว่า ให้ความสำคัญกับปัญหาปลาหมอคางดำอย่างเต็มที่ เร่งรัดแก้ปัญหาตลอด เพราะเป็นนโยบายสำคัญที่จะขับเคลื่อนแผนวาระแห่งชาติ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี นำมาปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนและหาวิธีทุกช่องทางที่จะไปหางบประมาณมาดำเนินการ และจะเร่งฟื้นฟูนำทรัพยากรที่เคยมีอยู่ในธรรมชาติกลับให้ได้ ซึ่งความร่วมแรงร่วมใจของภาคเอกชน และตัวเกษตรกร ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินการสำเร็จได้โดยเร็ว