กรมประมง...ประกาศ “ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน 3 เดือน” ควบคุมการทำประมงเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ในพื้นที่ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง เริ่ม 1 เม.ย. 68 นี้ !!
วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2568 ณ ท่าเทียบเรือศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลกระบี่ ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ กรมประมงจัดพิธี “ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2568” (ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน) บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2568 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง รวม 4,696 ตารางกิโลเมตร เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ และรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศไว้อย่างยั่งยืน
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีฯ ว่า ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจงานการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน หรือกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ชาวประมงและประชาชนมีส่วนช่วยกันอนุรักษ์และทำประมงให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสูงสุด ภายใต้แนวคิด “สัตว์น้ำมีใช้อย่างยั่งยืน” ควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพประมงที่มั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องชาวประมง ตามนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ตามประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2561 ได้กำหนดการบังคับใช้มาตรการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน ของทุกปี ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ตั้งแต่แหลมพันวา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนทางธรรมชาติ
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาทางวิชาการในปี พ.ศ. 2567 กรมประมงได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทรัพยากรสัตว์น้ำ จากเรือสำรวจประมงและเครื่องมือประมงพาณิชย์ พบว่า ในช่วงเวลาระหว่างมาตรการฯ (เมษายน-มิถุนายน) สัตว์น้ำชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ อาทิ ปลาทู ปลาลัง และปลาหลังเขียว มีความสมบูรณ์เพศ สูงมากกว่าร้อยละ 80 อีกทั้ง ในช่วงก่อนมาตรการและระหว่างมาตรการ ปลาเศรษฐกิจวัยอ่อนยังมีความชุกชุมและแพร่กระจาย ในพื้นที่ที่บังคับใช้มาตรการ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม ที่มีความชุกชุมเฉลี่ย 577 ตัวต่อปริมาตรน้ำ 1,000 ลบ.ม. และเดือนพฤษภาคม พบความชุกชุมเฉลี่ย 258 ตัวต่อปริมาตรน้ำ 1,000 ลบ.ม. และเมื่อพิจารณาอัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมดเฉลี่ยจากเรือสำรวจประมงที่ทำการสำรวจในเขตมาตรการ พบว่า ช่วงก่อนมาตรการ ระหว่างมาตรการ และหลังมาตรการ มีอัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมดเฉลี่ย เท่ากับ 135.505 กก./ชม. 166.206 กก./ชม. และ 471.888 กก./ชม. ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบอัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมดเฉลี่ย ก่อนและหลังมาตรการ พบว่า อัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมดเฉลี่ย หลังมาตรการมากกว่าถึง 3.5 เท่า ของช่วงก่อนมาตรการ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายในมาตรการปิดอ่าวฝั่งอันดามันมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาวการณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ และสามารถฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในทะเลอันดามันได้อย่างยั่งยืน
โดยภายในงานวันนี้ มีการประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการประกาศใช้มาตรการฯ และปล่อยขบวนเรือตรวจประมงทะเลออกปฏิบัติงานในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีการมอบแผ่นป้ายเงินอุดหนุนโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านประมง (กิจกรรมพัฒนาอาชีพชุมชนประมง) ประจำปี 2568 ให้แก่ชุมชนประมงท้องถิ่นทั้งหมด 22 กลุ่ม ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพและฟื้นฟูทรัพยากรประมง พร้อมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกุ้งกุลาดำและปูม้า จำนวน 1,510,000 ตัว ลงสู่ทะเลอันดามัน เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตและคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศ รวมถึง การจัดแสดงนิทรรศการนำเสนอข้อมูลความรู้ทางการประมงในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ การจัดแสดงผลการประเมินทางวิชาการมาตรการบริหารบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำฝั่งทะเลอันดามัน การควบคุมบังคับใช้กฎหมายในช่วงมาตรการ นิทรรศการปลาทะเลสวยงาม การอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล การแปรรูปเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ Zero waste สู่ประมงยั่งยืน ฯลฯ และการจัดบูทจำหน่ายสินค้าประมงจากชุมชนประมงพื้นบ้าน 10 กลุ่ม ภายใต้ร้าน Fisherman Shop ที่การันตีคุณภาพของสินค้าได้ว่ามีความสด สะอาด ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
“กรมประมงมุ่งหวังให้มาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน เป็นกลไกหนึ่งในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำโดยอาศัยความตระหนักและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรสัตว์น้ำที่คุ้มค่าและยั่งยืน สุดท้ายกรมประมงต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่มีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนและเกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพประมงต่อไป”...อธิบดีฯ กล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติม : ชนิดของเครื่องมือประมง วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขที่สามารถทำการประมงได้ในช่วงประกาศใช้มาตรการฯ ดังนี้
1. เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 14 เมตร และต้องทำการประมง
ในเวลากลางคืนนอกเขตทะเลชายฝั่ง
2. เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตัก ทำการประมงเฉพาะในเวลากลางวัน และต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
3. เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีขนาดช่องตาอวน ตั้งแต่ 4.7 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวอวน ไม่เกิน 2,500 เมตรต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และเครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีช่องตาอวนตั้งแต่ 4.7 เซนติเมตรขึ้นไป
มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
4. เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง อวนหมึก
5. เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
6. ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และลอบปูที่มีขนาดช่องตาท้องลอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
7. ลอบหมึกทุกชนิด
8. ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่ง
9. คราดหอย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกตามความในมาตรา 71
10. อวนรุนเคย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกตามความในมาตรา 68 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558
11. จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก แผงยกปูจักจั่น
12. เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง
13. การใช้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ประกอบเครื่องมืออื่นใด โดยเครื่องมือเหล่านั้นจะต้อง ไม่เป็นเครื่องมืออวนล้อมจับ อวนลากคู่ อวนครอบ อวนช้อน หรือยกปลากระตักที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) เรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) และเครื่องมือประมงที่ห้ามตามมาตรา 71
ทั้งนี้ การทำการประมงโดยใช้เครื่องมือในข้อ 3, 4, 5, 6 และ 7 จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 และจะต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมง ตามมาตรา 67, 69 หรือ 71 (1) แห่งพระราชกำหนด แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558
หากผู้ใดฝ่าฝืน จะเป็นความผิดตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครอง