"สุริยะ" เร่งเครื่องโปรเจกต์สำคัญปี 68 รวม 223 โครงการ วงเงิน 1.36 แสนล้าน ครอบคลุม 5 มิติ "ถนน - บก - ราง - น้ำ - อากาศ" พร้อมเปิดแผนปี 69 รวม 64 โครงการ วงเงิน 1.16 แสนล้าน จัดเต็ม ! สร้างมอเตอร์เวย์ - ทางด่วน - ท่าเรือท่องเที่ยว - ไฮสปีด เฟส 2 - ยกระดับท่าอากาศยาน ผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็น "ศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาค" สร้างโอกาสให้ประเทศชาติ - พี่น้องประชาชน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคม เพื่อโอกาสประเทศไทย" เพื่อวางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม และเร่งขับเคลื่อนการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2568 และ 2569 ให้เป็นรูปธรรมว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัย ลดต้นทุนโลจิสติกส์ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และยกระดับให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับประเทศ 

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัดฯ ได้เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการสำคัญในปี 2568 พร้อมทั้งได้ระดมความคิดในการวางแผนงานการดำเนินงานโครงการใหม่ที่สำคัญในปี 2569 เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย ให้พี่น้องประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็น "ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในระดับภูมิภาค" อย่างยั่งยืน

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมได้วางแผนการดำเนินโครงการด้านคมนาคม ในปี 2568 จำนวนทั้งสิ้น 223 โครงการ วงเงินลงทุน 136,492.43 ล้านบาท เป็นโครงการต่อเนื่อง 107 โครงการ วงเงินลงทุน 53,622.78 ล้านบาท และโครงการใหม่ 116 โครงการ วงเงินลงทุน 82,869.65 ล้านบาท โดยแบ่งตามรูปแบบการขนส่ง เพื่อให้เห็นทิศทางภาพความสำเร็จการดำเนินงาน เป็น 5 มิติ ดังนี้

1. มิติพัฒนาการขนส่งทางถนน เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ยกระดับความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนน และพัฒนาการขนส่งระหว่างเมือง 50 โครงการ แบ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 15 โครงการ และโครงการใหม่ 35 โครงการ เช่น โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ - ลำลูกกา) และขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M5 ทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร M9 ช่วงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ให้ครบทุกเส้นทาง เพื่อเป็นวงแหวนที่สมบูรณ์ โครงการแก้ไขปัญหาจราจรเมืองหลักในภูมิภาค จ.ภูเก็ต (ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้ - ป่าตอง) และ จ.เชียงใหม่ (บริเวณแยกสันกลาง แยกต้นเปาพัฒนา แยกซุปเปอร์ไฮเวย์ แยกกองทราย แยกสะเมิง)

2. มิติพัฒนาการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญโดยส่งเสริมพัฒนาการขนส่งสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปี 2568 มีโครงการที่สำคัญ 41 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 17 โครงการ เช่น การส่งเสริมการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนเสริม (Feeder) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การจัดหาเมล์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า 1,520 คัน และรถโดยสารระหว่างจังหวัดพลังงานไฟฟ้า 54 คัน การพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) เพื่อยกระดับการให้บริการ มีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงศึกษาแนวทางการดำเนินมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่จราจรหนาแน่นในพื้นที่กรุงเทพฯ และเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าทางบก 

3. มิติการพัฒนาการขนส่งทางราง ได้ให้ความสำคัญในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เปลี่ยนการขนส่งจากถนนมาสู่ทางรางและน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า และลดต้นทุนโลจิสติกส์ โดยในปี 2568 มีโครงการที่สำคัญ 69 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 36 โครงการ เช่น การผลักดันกฎหมายร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางรางฯ รวมถึงการจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ร่าง พ.ร.บ. และการเดินหน้านโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ทุกสาย เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 3 เส้นทางเพื่อเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น   

4. มิติการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ในปี 2568 มีโครงการที่สำคัญ 26 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 20 โครงการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาการขนส่ง เปิดประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สร้างการเป็น Hub เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางในทุกมิติ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการผลักดันกฎหมายร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์และการท่องเที่ยว โดยให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยว (Cruise Terminal) สมุย พัทยา ภูเก็ต และพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) 29 แห่ง สู่ความเป็นมาตรฐานสากล 

5. มิติการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ ได้เร่งรัดเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานหลักของประเทศรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคหรือ Aviation Hub ด้วยการยกระดับการให้บริการ 37 โครงการ แบ่งเป็น โครงการต่อเนื่อง 19 โครงการ เช่น การพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 การพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ระยะที่ 1 ต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบินท่าอากาศยานชุมพร รวมทั้งการเตรียมความพร้อมการให้บริการการเดินอากาศ รองรับการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล (Seaplane Operations) และติดตั้ง Automatic Border Control ระยะที่ 2 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ ณ บริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทาง

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการดำเนินโครงการในปี 2569 จำนวน 64 โครงการ วงเงินลงทุนประมาณ 116,962.12 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 มิติ ประกอบด้วย มิติพัฒนาการขนส่งทางถนน 21 โครงการ โดยจะเร่งผลักดันการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์และทางพิเศษ เพื่อเพิ่มทางเลือกการเดินทางและการขนส่งสินค้า เช่น การแก้ไขปัญหาจราจร จ.เชียงใหม่ โครงก่อสร้างทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่ - เกาะแก้ว - กะทู้ และการพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางสู่เมืองหลักในภูมิภาค อาทิ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 ช่วงนครปฐม - ปากท่อ ศึกษาและออกแบบเส้นทาง MR1 ช่วงนครปฐม - นครสวรรค์ ที่ใช้เขตทางร่วมกันระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ ตามแผนแม่บท MR-Map และวงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านเหนือ ช่วงสุพรรณบุรี - ทล.32

สำหรับมิติพัฒนาการขนส่งทางบก ได้ดำเนินโครงการใหม่ 10 โครงการ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของการให้บริการรถสาธารณะ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและกระจายสินค้า ขับเคลื่อนไทยสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค เช่น ศึกษาจัดทำรถโดยสารสาธารณะต้นแบบ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและกระจายสินค้า อาทิ การก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี พัฒนาระบบการกำกับดูแลการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกผ่านระบบดิจิทัล เป็นต้น

นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า การขับเคลื่อนมิติการพัฒนาระบบขนส่งทางราง จำนวน 14 โครงการ เพื่อเติมเต็มโครงข่ายระบบราง ยกระดับการเดินทางของประชาชนให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) รวมถึงการเพิ่มศักยภาพด้านระบบรางของประเทศ ผลักดันการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ไทย - จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย และจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า พร้อมอะไหล่ 113 คัน เป็นต้น

ขณะที่การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณร่องน้ำ 10 โครงการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้า – ออกของเรือโดยสารและเสริมทราย เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายหาด เช่น เสริมทรายเพื่อป้องกันการกัดเซาะบริเวณชายหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี ชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี เขาหลัก - แหลมปะการัง จ.พังงา ชายหาดสมิหลา จ.สงขลา หาดบางเสร่ จ.ชลบุรี กันทรายและคลื่นบริเวณร่องน้ำปากพร - สารสิน จ.ภูเก็ต รวมทั้งศึกษาแนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางมารีน่าของภูมิภาคอาเซียน พร้อมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้บูรณาการความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล หรือ Seaplane Operations

นอกจากนี้ มิติการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ เสริมศักยภาพท่าอากาศยานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค 9 โครงการ เช่น ก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) และออกแบบอาคารผู้โดยสารด้านใต้ (South Terminal) และทางวิ่งเส้นที่ 4 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 

"กระทรวงคมนาคมมีความพร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนแผนงานโครงการให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กระผมรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะได้ติดตามเร่งรัดการดำเนินงานให้เร็ว เป็นไปตามแผน เกิดผลในทางปฏิบัติ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพื่อโอกาสประเทศไทยต่อไป"