สุริยะลงนามแต่งตั้งภูมิธรรมรักษาการนายกฯ ลำดับที่ 1 ยันปรึกษา กฤษฎีกา-สลค.แล้ว แพทองธารเข้าถวายสัตย์ได้ ด้าน ภูมิธรรม มั่นใจ แพทองธาร รอด ปมคลิปคุย ฮุนเซน ยันไม่มีแผนดัน ชัยเกษม ขึ้นต่อ ลั่นรัฐบาลลุยต่ออยู่ครบเทอม หมอตุลย์ ฟันดาบสอง ยื่น ปธ.วุฒิฯ ล่าชื่อยื่นถอดถอน อิ๊งค์ พ้น รมว.วัฒนธรรม ย้ำ นิติสงครามไม่มีผลหาก"นักการเมือง-รัฐบาล"ทำหน้าที่ตัวเอง
เมื่อเวลา 10.25 น. วันที่ 2 ก.ค.68 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกฯ ว่า สืบเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ซึ่งจากเดิม นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรักษาการลำดับที่ 1 แต่เนื่องจากนายภูมิธรรม พ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จึงทำให้พ้นจากตำแหน่งรองนายกฯด้วย ตนจึงต้องมาปฏิบัติหน้าที่แทนนายภูมิธรรม ซึ่งหลังจากวันที่ 3 ก.ค. ตนทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกฯ นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ และหลังจากถวายสัตย์ปฏิญาณเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายภูมิธรรม จะทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกฯแทนตน ซึ่งในช่วงนี้ตนจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดตามระเบียบราชการบริหารแผ่นดิน
เมื่อถามว่าในช่วงนี้มีเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำหรือลงนามหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่ตนทำในวันนี้คือเมื่อช่วงเช้าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ให้ตนเซ็นเอกสารลงนามเพื่อมอบให้ นายภูมิธรรม กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรักษาราชการแทนนายกฯภายหลังถวายสัตย์ปฏิญาณ
เมื่อถามถึงความรู้สึกในช่วงที่ได้ปฏิบัติที่รักษาราชการแทนนายกฯในระยะเวลาสั้น ๆ นายสุริยะ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ตนได้ทำงานกับ น.ส.แพทองธาร ระยะเวลาเกือบ 10 เดือน ตนเห็นว่าท่านเป็นคนที่ตั้งใจทุ่มเทในการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไม่เคยคิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัวและกำชับให้รัฐมนตรีทุกคนทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต พอตนไปดูคลิปเสียงที่ออกมาตนเห็นว่าเจตนารมณ์ในภาพรวม ท่านอยากให้เกิดความสงบสุขระหว่างไทย-กัมพูชา ไม่มีเจตนาที่จะทำให้กองทัพลดบทบาทลง แต่ขณะเดียวกันท่านกลับสนับสนุนกองทัพ
เมื่อถามว่า มีอดีตสว.และอดีตสส.ออกมาระบุว่า น.ส.แพทองธาร ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หากเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณอาจติดเรื่องขาดคุณสมบัติรัฐมนตรี จะทำให้มีความสุ่มเสี่ยงหรือไม่เพราะยังมีการตีความกันอยู่ นายสุริยะ กล่าวว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และฝ่ายกฎหมาย ได้ดูข้อกฎหมายชัดเจนแล้วว่าทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย ตนไม่ห่วงตรงนี้เพราะเป็นการดูในภาพรวมที่กฤษฎีกาดูอย่างรอบคอบแล้ว และฝ่ายกฎหมายรัฐบาลดูอย่างถูกต้องแล้ว
เมื่อถามอีกว่าเลขาธิการกฤษฎีกาและเลขาธิการครม.ยืนยันแล้วใช่หรือไม่ว่าเรื่องนี้ไม่ผิด นายสุริยะ กล่าวว่า ถูกต้องครับ เมื่อถามว่าจะมีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษเลยหรือไม่ หลังการถวายสัตย์ปฏิญาณ นายสุริยะ กล่าวว่า ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น
ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย (มท.) กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวว่า นายกรัฐมนตรีมีกำลังใจที่เข้มแข็ง และได้กำชับรัฐมนตรีทุกคนให้ทำหน้าที่ต่อ ในส่วนของนายกฯเองก็เหมือนพักงานไป เพื่อรอกระบวนการยุติธรรมให้มีความชัดเจน แต่ก็ยังสามารถทำอะไรต่างๆได้ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่จะช่วยแก้ไขปัญหา และนายกรัฐมนตรีก็ยังสามารถเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีได้เช่นเดิม ภายหลังการเข้าพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณในวันพรุ่งนี้ ก็จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อถามถึงกรณี มีการตั้งข้อสังเกตว่านายกรัฐมนตรีถูกร้องเรื่องคุณสมบัติและความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ อาจไม่สามารถนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้ นายภูมิธรรม ระบุว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ดูในเรื่องกฎหมายทั้งหมดแล้ว จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา หากยังครางแคลงใจหรือมีประเด็น ให้กระบวนการยุติธรรมตรวจสอบได้อยู่แล้ว แต่นายกรัฐมนตรีก็มีภารกิจของกระทรวงวัฒนธรรม ในส่วนอื่นก็ไม่มีอะไรกระทบ ที่จะทำให้งานสะดุด หากท่านจะถูกวินิจฉัยว่าอย่างไร ก็ไม่มีปัญหา ขอให้ทุกคนได้ทำงาน และนายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่ในบทบาท ฐานะประชาชนและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
เมื่อถามว่า ทางพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เตรียมแผนรองรับ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับนายกรัฐมนตรี ซึ่ง นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของพรรค ใช่หรือไม่ นาภูมิธรรม กล่าวว่า มันมีกระบวนการอยู่แล้ว ตั้งแต่หลังจากวันนั้นเกิดขึ้น เชื่อว่าน่าจะดีไม่ต้องไปคิดอะไรที่เยอะกว่านี้ และเราเชื่อมั่นว่าผลที่จะออกมาจะเป็นบวก
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้นิติสงครามนั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นเพียงคำเปรียบเปรย ซึ่งตนมองว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นกลไกหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็ต้องดำเนินการไป ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติ หรือแม้แต่ฝ่ายตุลาการ ทุกคนมีสิทธิ์ ในการให้ข้อเสนอแนะ หากมีการตั้งคำถาม ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องชี้แจงข้อสงสัย เพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนขึ้น ในเมื่อมีคำถามถึงตุลาการ ก็ต้องมีหน้าที่ในการรับฟังและตรวจสอบ อีกทั้งตนเชื่อมั่นในกฎหมายว่ามีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติ และกลไกของประชาธิปไตย ให้เสนอแนะตรวจสอบได้ กลไกทุกอำนาจก็ต้องรับฟังมองว่าไม่ใช่ปัญหา
ที่รัฐสภา นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ายื่นหนังสือต่อ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยถอดถอน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม
นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ตามที่ประธานวุฒิสภาได้ยื่นคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 36 ท่าน ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยถอดถอน น.ส.แพทองธาร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 160 (4) และ (5) กล่าวคือ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งในวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารับคำร้องดังกล่าว และมีคำสั่งให้ น.ส.แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
นพ.ตุลย์ กล่าวว่า บัดนี้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง น.ส.แพทองธาร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จึงเป็นกรณีที่ต้องวินิจฉัยว่า น.ส.แพทองธาร ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้หรือไม่
นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ตนจึงขอเสนอให้สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ร่วมกันลงชื่อให้ประธานวุฒิสภา ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ของ น.ส.แพทองธารสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา160 (4) และ (5) หรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ น.ส.แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยล
อย่างไรก็ตาม ตนต้องขอบคุณ สว.ทั้ง 36 คนก่อนหน้านี้ ที่ได้มีการยื่นหนังสือผ่านคำร้องผ่านประธานวุฒิสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องกรณีคลิปเสียง ซึ่งแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ และขัดรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า ก่อนมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญออกมา แต่นายกรัฐมนตรียังเสนอชื่อทูลเกล้าฯ ตัวเอง ทั้งที่อาจจะถูกข้อกล่าวหาทั้งการผิดจริยธรรมและความไม่ซื่อสัตย์สุจริต จนคนให้ทำประเทศตั้งข้อสงสัยว่า อย่างนี้แล้ว จะสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมตามได้อย่างไร
เนื่องจากตามกลไกแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ เพราะตนมองแล้วว่า พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ก็คงไม่ยื่น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกันอยู่ ดังนั้น ตนจึงขอเสนอให้ สว.ทำหน้าที่ในการพิจารณาเข้าชื่อเพื่อยื่นคำร้องจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน หากจะได้เท่าเดิม 36 คน ก็ยิ่งดี ตนยืนยันว่า กระบวนการนี้ ตนทำในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามของกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย
ส่วนการประเมินความเป็นไปได้ถึงแนวโน้มคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น หากดูจากการรับคำร้องด้วยเสียงเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 และการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่มีเสียง 7 ต่อ 2 ซึ่ง 2 เสียงนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ให้พักบางส่วนของอำนาจหน้าที่ ซึ่งคล้ายกับกรณีของ นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กรณีที่กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ
นพ.ตุลย์ ย้ำว่า คำสั่งเช่นนี้เป็นไปเพื่อป้องกันสิ่งที่อาจทำให้ส่งผลเสียต่อการบริหารราชการแผ่นดิน จึงให้รักษาการนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ ดำเนินการแทน เว้นแต่การยุบสภา หรือการแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ อย่างไรก็ดี ในการพิจารณา ตนขอไม่ก้าวล่วง แต่ตนคาดว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมองเช่นนี้ และคาดว่าในสุดท้ายแล้วน่าจะมีการพิจารณาถอดถอน
เมื่อถามว่า หาก น.ส.แพทองธาร ตัดสินใจลาออก จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ให้เป็นไปตามวิถีการประชาธิปไตย เพราะในส่วนของสภาเองยังสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ยังเหลืออยู่ หรือสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้
ส่วนหากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคเพื่อไทยตามเดิม ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามวิถีทาง แต่บังเอิญว่าพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคประชาชนไม่ได้อยู่ในลิสต์แล้ว เพราะเขามีการเสนอมาเพียงชื่อเดียว แต่หากสุดท้ายเป็นเหมือนกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เมื่อบริหารราชการไปแล้วมีปัญหา ประชาชนก็จะใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ
"ตอนนี้จะเห็นว่าหลายคนจากพรรคฝ่ายค้านและผู้เกี่ยวข้อง ทั้ง คุณธนาธร คุณปิยบุตร คุณพรรณิการ์ หัวหน้าเท้ง หรือ คุณรังสิมันต์ ออกมาพูดคำว่านิติสงครามกันมาก ผมจึงคิดว่า นิติสงครามเป็นเครื่องมือของภาคประชาชน ที่จะดำเนินการกับนักการเมืองที่ทำไม่ถูกต้อง เราก็เหลือแต่เครื่องมีอย่างนี้ ขอบอกว่าหากนักการเมืองหรือรัฐบาลทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ก็ไม่ต้องกลัวนิติสงครามใดๆ ไม่มีอะไรระคายผิวคุณได้ ถึงยื่นไป ศาล ป.ป.ช. กกต. เขาก็ไม่ลงโทษคุณ เพราะฉะนั้น รัฐบาลหรือนักการเมืองท่านใดก็ตาม กรุณาอย่าห่วงเรื่องนิติสงคราม กรุณาทำหน้าที่ตามที่ท่านได้อาสาเข้ามา รับใช้ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ตามที่คุณกล่าวอ้างตอนหาเสียง คุณไม่ต้องห่วงการที่ประชาชนจะใช้นิติสงครามได้ มีอยู่กรณีเดียวคือคุณทำหน้าที่ไม่ถูกต้องอย่างร้ายแรง" นพ.ตุลย์ ทิ้งท้าย