“สมศักดิ์-เดชอิศม์” ประชุมผู้บริหาร สธ. สั่งเดินหน้านโยบาย “30บาทรักษาทุกที่-คนไทยห่างไกล NCDs-ฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์” เผย กำชับ สธ.ช่วยดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ฝุ่น PM 2.5 ขณะที่ รมช.สาธารณสุข ชงทำเอ็มโอยู แก้น้ำประปาหมู่บ้านไม่ได้คุณภาพ หลังพบผ่านเพียง 0.5% หวังให้คนไทยใช้น้ำบริสุทธิ์ปลอดภัย

วันที่ 8 ม.ค.2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ กาญจนวัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุม ที่กระทรวงสาธารณสุข

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ในวันนี้  ตนขอสวัสดีปีใหม่ทุกคน และขอขอบคุณผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ที่ได้เสียสละเวลาในวันหยุด มาดูแลพี่น้องประชาชน ให้เดินทางอย่างปลอดภัย โดยในปี 2568 ตนขอให้พวกเรามุ่งเน้นดำเนินการ ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกระดับ“30 บาทรักษาทุกที่” ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล โดยเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติ มาเปิดงาน Kick off 30 บาทรักษาทุกที่ ระยะที่ 4 ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยตนเอง

“​การทำให้คนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ เป็นอีกนโยบายสำคัญ ที่ขอให้พวกเรามุ่งเน้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การป้องกันและแก้ปัญหาโรค NCDs การทำให้ประชาชนนับคาร์บได้ เพื่อลดโรคและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ รวมถึงการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ เพื่อให้หญิงไทยปลอดภัยจากมะเร็งปากมดลูกต่อไป โดยหลายโครงการมีความคืบหน้าที่ชัดเจนแล้ว เช่น โครงการคนไทยห่างไกล NCDs ซึ่งมี อสม. นับคาร์บแล้ว 1,072,719 คน ประชาชน 10,734,545 คน รวม 11,807,264 คน โดยกระทรวงสาธารณสุข ก็จะเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ประชาชนนับคาร์บเป็น และลดการเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ขณะที่ นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ตลอดเวลากว่า 3 เดือน ที่ตนมารับตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข ได้แบ่งเวลาเป็น 2 ส่วน คือ 1.ติดตามงานที่กระทรวง และ 2.ลงพื้นที่เยี่ยมโรงพยาบาลต่างๆ โดยจากการลงพื้นที่เยี่ยมโรงพยาบาล ก็พบหลายปัญหา เช่น 1.ผู้รับเหมาทิ้งงาน ซึ่งมีเกือบทุกจังหวัด ตนจึงมีความเห็นว่า ต้องเปลี่ยนวิธีจัดจ้าง เพราะเราลืมมองชีวิตของประชาชน จากโรงพยาบาลสร้างไม่เสร็จ โดยไปมองแค่ประหยัดงบประมาณเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ควรมีการแก้ไข 2.สุขภาพคนไทย โดยวันนี้เอกราชสิ่งแวดล้อมได้สูญเสีย ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ก็ทวีความรุนแรง แต่เราแก้ปัญหาที่ต้นทางไม่ได้ ก็แก้ที่ปลายทาง และ 3.ปัญหาน้ำประปาหมู่บ้าน กว่า 69,000 แห่ง ซึ่งมีเพียง 0.5% เท่านั้นที่ผ่านคุณภาพ ดังนั้น ที่เหลือไม่ได้คุณภาพ ส่งผลให้ประชาชนดื่มน้ำไม่สะอาด ตนจึงมองว่า ควรทำเอ็มโอยู กับปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้กรมอนามัย ตรวจประปาหมู่บ้าน อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยถ้าไม่ผ่าน ต้องปรับปรุงแก้ไขให้คนไทย ได้ใช้น้ำที่บริสุทธิ์และปลอดภัย

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ก่อนการประชุมได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการจัดการพลังงานในองค์กรด้วยระบบดิจิทัล ระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า สนับสนุนให้มีการผลิต และใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน โดยจะนำเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในองค์กรด้วยระบบดิจิทัลและนวัตกรรมอื่นๆ มาปรับใช้ภายในสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสม เพื่อลดการใช้พลังงานอย่างไม่จำเป็น

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ก่อนการประชุมยังมีการมอบประกาศเกียรติคุณให้แก่สำนักงานเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 10 จังหวัดแรกที่ส่งเสริมสนับสนุน อสม.นับคาร์บตนเองและบันทึกผลผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ท อสม. ครบ 100% โดยเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข ต้องให้ประชาชนนับคาร์บเป็น 50 ล้านคน ส่วนความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ. 5 ฉบับ ซึ่งร่างที่มีความคืบหน้าคือ ร่างพ.ร.บ.อสม. โดยได้ไปชี้แจงกับกรมบัญชีกลาง เรียบร้อยแล้ว น่าจะจบลง ซึ่งรอประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน เมื่อเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี ต่อไป

เมื่อถามถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นขณะนี้ เพิ่งเริ่ม โดยกระทรวงสาธารณสุข เป็นฝ่ายรักษา ซึ่งเรื่องนี้ เราเคยทำเอ็มโอยู กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยดูแลรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงจะช่วยดูห้องปลอดภัย และมุ้งกันฝุ่น โดยก็มีการพูดคุยหารือว่า กระทรวงสาธารณสุข จะสนับสนุนอะไรได้บ้าง