ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน มั่นใจลดไฟป่าหมอกควันได้แน่นอนร้อยละ 50 ในปี 68 หลังเรียกประชุมทุกหน่วยงานเพื่อรับมือไฟป่า โดยมีการจัดเตรียมพร้อมรับมือไฟป่าด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วน

วันที่ 8 ม.ค.68 นายเอกวิทย์ มีเพียร ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียกประชุมทุกหน่วยงาน ภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งจังหวัด เพื่อเตรียมบูรณาการและวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปี 2568 ณ ห้องประชุมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

นายเอกวิทย์ มีเพียร ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าในการเรียกทุกภาคส่วนมาร่วมประชุมหารือกันในครั้งนี้ก็เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ ร่วมกันวางมาตรการป้องกัน ให้ส่วนราชการและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปี 68 นี้ ก่อนหน้านี้ประมาณ 3 เดือนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีการเตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาไฟป่ามาแล้ว  ตนมั่นใจจะสามารถรถพื้นที่เผาไหม้ได้ร้อยละ 50  เนื่องจากตนได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับทุกหน่วยงานทั้งส่วนราชการ และท้องถิ่นบูรณาการร่วมกันและทำความเข้าใจกับประชาชนในหมู่บ้าน โดยจะมีมาตรการทั้ง 8 มาตรการ ได้แก่มาตรการการประชาสัมพันธ์จัดทำสปอร์ดเป็นภาษาถิ่นทุกกลุ่มชาติพันธุ์ การจัดการเชื้อเพลิง การลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟ การเผชิญตุในสถานการณ์วิกฟตรุนแรง การลดฝุ่นละอองในพื้นที่เขตเมือง การดูแลสุขภาพประชาชน การบังคับใช้กฎหมาย และการสร้างความยั่งยืน  

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวต่อไปว่า  ในภาพรวมของจังหวัด เมื่อปี 2567 มีพื้นที่เผาไหม้สูงถึง 1.4 ล้านไร่ ในปี 68 พื้นที่เผาไหม้จะต้องให้ลดลงไม่เกิน 7 แสนไร่  ส่วนค่า PM 2.5 จะต้องลดลงร้อยละ 10 หรือไม่เกิน 74 วัน อัตราการป่วยของประชาชนเกี่ยวกับโรคปอดอุดกั้นรื้อรัง จะต้องลดลงร้อยละ 10 หรือไม่เกิน 706 ราย ส่วนการบริหารจัดการไฟของเกษตรกรในการบริหารจัดการพื้นที่ จะต้องให้ลงทะเบียนผ่านระบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และการบริหารจัดการไฟในพื้นที่เกษตรที่จำเป็น ให้มีการควบคุม มีการซอยแปลง ไม่เผากลางคืน ไม่เผาข้ามคืน 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกหมู่บ้านจะมีอาสาสมัครดับไฟป่าหมู่บ้านละ 20 คน

นายเอกวิทย์   มีเพียร ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำหรับจุดอ่อนในการแก้ปัญหาไฟป่าในปี 2567 ที่ผ่านที่ต้องนำมาแก้ไขปัญหาในปี 68 คือการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเกี่ยวกับการเผาป่า หรือเผาเศษซังข้าวโพด ซึ่งจะต้องสร้างความเข้าใจและสร้างการรับรู้ว่าการที่ทำให้เกิดไฟป่าหมอกควันมีผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน ซึ่งจะต้องดึงชาวบ้านมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาไฟป่าร่วมกันให้มากขึ้น 

อย่างไรก็ตามพบว่าในปีนี้ ( พ.ศ.2568 ) ไฟป่าได้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม ของต้นปี โดยทางหน่วยงานป้องกันและควบคุมปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้สรุปสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำวันที่ 8 มกราคม 2568 โดยเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2568 ดาวเทียมตรวจจับความร้อนพบจุดความร้อนจำนวน 4 จุด และจุดความร้อนสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.-7 ม.ค.2568 จำนวน 16 จุด สูงสุดที่ อ.แม่ลาน้อย 9 จุด จุด โดยเกิดขึ้นสูงสุดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 13 จุด ส่วนค่า PM2.5 ยังไม่เกินมาตรฐาน อยู่ในระดับดีต่อสุขภาพของประชาชน