วันที่ 6 ม.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ซึ่งได้พิจารณากระทู้ถามของนายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล สว.ถามนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการล้างไตสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจะมีการทบทวนมติที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีมติให้ดำเนินการหรือไม่
โดยรมว.สาธารณสุข ชี้แจงว่า ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.โดยตำแหน่ง และสปสช.รับผิดชอบ 30 บาทรักษาทุกที่ ดำเนินการครบถ้วนเมื่อ 1 มค.68 การใช้จ่ายงบประมาณของ สปสช.เกือบ 150,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใช้เงินเกี่ยวกับการรักษาเป็นหลักมานาน งบฯป้องกันประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนการฟอกไตใช้จ่าย 20,000 – 30,000 ล้านบาทต่อปี จึงหาวิธีที่จะประหยัด จึงหยิบยกการป้องกัน NCDs กินเป็นไม่ป่วย สวยหล่อ อายุยืน โดยได้แนวคิดตากการฟอกไตเพราะใช้เงินมาก ไม่ว่าจะฟอกทางไหน ใช้จ่ายมากทั้ง 2 ทาง
“ไม่ได้บังคับว่าต้องล้างไตผ่านช่องท้องเพียงอย่างเดียว แต่เป็นทางเลือกให้สามารถทำได้ 2-3 ทาง ทั้งการเปลี่ยนไตด้วย โดยสปสช.สนับสนุนทุกแนวทาง เท่าที่เข้าไปศึกษาในอดีตการล้างผ่านช่องท้องอันตราย แต่ล่าสุดไปดูสถิติตัวเลขชีวิตน้อยลงแล้ว ที่ผ่านมา การไปล้างที่บ้านเอง เกิดจากผู้ป่วยไม่ได้ศึกษาวิธีการที่ปลอดภัย จึงมีการสอนแนะนำในการดูแล ซึ่งการฟอกไตผ่านช่องท้อง ส่วนการมาฟอกที่สถานพยาบาลเป็นปัญหาเรื่องการเดินทาง สัปดาห์ 2-4 ครั้ง แล้วแต่หนักเบา เป็นภาระของญาติ มีค่าใช่จ่ายเดินทาง แต่ทางเลือกฟอกที่บ้าน ผมดูแล้วสามารถดำเนินการได้”นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนคำถามที่ถามว่า ได้มีการหารือกับคณะกรรมการคณะต่างๆ หรือไม่ ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้นั้น ยืนยันว่ามีคณะกรรมการ คณะทำงานหลายชุดที่ได้ร่วมกันศึกษาก่อนจะเข้ามาพิจารณาในบอร์ดสปสช. มีการดำเนินการมาหลายขั้นตอน และเป็นการให้ทางเลือกจึงมองว่าไม่เป็นปัญหา คนไข้สามารถเลือกแนวทางและวิธีการเดิมได้ ส่วนที่ระบุเรื่องการรับผลประโยชน์การซื้อน้ำยาฟอกไตนั้น ยืนยันว่าไม่มีการเอื้อประโยชน์เราทำงานซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา แต่ถ้ามีข้อมูลสามารถปรึกษาหารือกันได้
จากนั้นนายสมศักดิ์ ยังได้ตอบกระทู้ถามของนพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ถึงนโยบายการแก้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดี ว่า กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมกันดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชย์ครบ 70 ปี และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษาในปี 2559 มีการตั้งเป้าหมายทำให้ปลาในแหล่งน้ำมีพยาธิน้อยกว่าร้อยละ 1 และความชุกของผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับต่ำกว่าร้อยละ 1 และอัตราการตายด้วยมะเร็งท่อน้ำดีลดลงร้อยละ 50 ทั้งนี้ อัตราการติดพยาธิในปลาที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ลดลงเหลือร้อยละ 1.7 ในปี 2567 ซึ่งลดลงจากที่ในอดีตพบว่าปลาติดพยาธิสูงถึงร้อยละ 30-50 คนติดพยาธิใบไม้ตับลดลงชัดเจนจากร้อยละ 16.3 เมื่อปี 2559 เหลือร้อยละ 3.57 ในปี 2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมในความพยายามทุ่มเทแก้ปัญหาร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อเริ่มโครงการ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยการอัตราซาวด์ช่องท้อง และบริการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับ และมะเร็งท่อน้ำดี โดยวิธีการตรวจรูปแบบต่าง ๆ ได้มีการสนับสนุนงบประมาณผ่านค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในรูปแบบค่าบริการเหมาจ่ายรายหัว โดย สปสช. และในปี 2567 กระทรวงสาธารณสุขได้มีการตรวจคัดกรองด้วยอุจจาระจำนวน 218,356 ราย และมีการเลือกตรวจด้วยปัสสาวะจำนวน 56,136 ราย สำหรับชุดตรวจโดยปัสสาวะ (OV-RDT) ยังจำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มเติมให้มีราคาที่เหมาะสม คุ้มค่า และตรวจคัดกรองได้ครอบคลุม เพราะให้ผลแตกต่างจากการตรวจโดยอุจจาระมาก ยังมีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการตรวจคัดกรองด้วยอุจจาระ