เรื่อง : ชนิดา สระแก้ว

ภาพ : พสุพล ชัยมงคลทรัพย์ 

หมายเหตุ: “พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์”  รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ทีมข่าวการเมืองสยามรัฐ” ถึงบทบาทการทำหน้าที่ของวุฒิสภา 200 คนที่มีความหลากหลาย เป็นความงดงามในระบอบประชาธิปไตย โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำงานได้ดี และยอมรับการเป็นสว.สายน้ำเงิน เพื่อต้องการปกป้องสถาบัน อันเป็นที่เคารพรัก ของประชาชน 

-อยากให้ประเมินการทำงานของสภาสูง ซึ่งถือเป็นสว.ชุดแรก ที่มีขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560

การทำงานของสว.ชุดปัจจุบันซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญปี 60 ผ่านมา 1 สมัยการประชุม และกำลังเริ่มเข้าสู่สมัยที่ 2 ภาพรวมแล้วถือว่าทุกคนค่อนข้างใหม่ ยังไม่ทราบบทบาทในการทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการคณะต่างๆเราก็ยังไม่ได้ตั้ง ก็ต้องมีการปรับตัว แต่ในช่วงปลายๆสมัยการประชุมทุกอย่างก็เข้าที่ คิดว่าทุกท่านสามารถที่จะทำหน้าที่ รู้บทบาทของตัวเองได้

และเมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา 21 คณะ มีการประชุมกัน และแบ่งงานกันรับผิดชอบ จะเห็นว่าการทำงานช่วงหลังคึกคักมากขึ้น สมาชิกวุฒิสภารู้บทบาทของตัวเองมากยิ่งขึ้นในการทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านนิติบัญญัติ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระต่างๆ ก็ถือว่าทุกคนสามารถที่จะเข้าใจบทบาทและทำหน้าที่ของตัวเองได้

ในส่วนตัวผมถือว่ามีความพึงพอใจ ไม่ว่าสมาชิกจะทำหน้าที่ในบทบาทของกรรมาธิการ ทั้งการทำหน้าที่ในส่วนของนิติบัญญัติ หรือการเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ผมก็ถือว่าทำหน้าที่ได้ดี มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และก็ไม่เห็นด้วย ก็มีความเห็นต่างที่หลากหลาย ก็เป็นความหลากหลายที่เราก็ต้องยอมรับ สุดท้ายแล้วก็เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ต้องปฏิบัติตามมติเสียงส่วนใหญ่ แล้วก็ไม่เพิกเฉยไม่ละเลยที่จะรับฟังเสียงส่วนน้อย 

ซึ่งก็มีการประสานงานกันได้ดี อาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้าง แต่ทุกฝ่ายทุกคนก็ยอมรับในข้อแตกต่าง ในความคิดต่าง และท่ามกลางความคิดต่างมันก็มีข้อสังเกต มีข้อที่จะต้องทำให้เสียงส่วนใหญ่ต้องคอยคิด และนำมาเป็นส่วนหนึ่งต้องเอามาเป็นข้อสังเกตด้วย

-การได้มาซึ่งสว.ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ต้องการให้เกิดความหลากหลาย เมื่อได้มาทำงานจริง ความหลากหลายนั้นเป็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหน

ผมว่ามันเป็นสีสัน เป็นความหลากหลาย เราจะได้หลายมุมมอง เกิดความรอบคอบมากขึ้นมาในการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในระบบรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา เราก็ต้องเคารพมติเสียงส่วนใหญ่อยู่แล้ว ที่ผมบอกว่าไม่เพิกเฉยต่อต่อเสียงส่วนน้อย ต้องรับฟังข้อสังเกต หรือข้อท้วงติ่งเสียงส่วนน้อยก็มีเหตุ มีผล ทุกคนยอมรับตรงนั้นกันก็เป็นไปตามระบบประชาธิปไตย

-การเมืองจาก "สภาล่าง" สามารถตัดขาดจาก “สภาสูง” ได้จริงหรือไม่

ผมว่าตัดขาดไม่ได้หรอก มีความต่อเนื่อง สภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา เพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นคนยกร่างกฎหมายเสนอมา วุฒิสภาก็เป็นส่วนหนึ่งในการที่จะตรวจสอบ และวิเคราะห์ว่าที่สภาล่างส่งมาขาดตก ยกเว้นตรงไหนบ้าง หรือจะเพิ่มเติมอะไรก่อนที่จะให้ความคิดเห็นไปก็เป็นเรื่องที่สวยสดงดงาม การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเป็นหน้าที่หนึ่ง

วุฒิสภามีหน้าที่ในการที่จะสอบถามไปยังรัฐบาล ว่าเรื่องที่รัฐบาลแถลงไว้เป็นไปตามนั้นหรือไม่ หรือพี่น้องประชาชนมีปัญหาอะไร วุฒิสภาก็มีโครงการสว.พบประชาชน หรือกรรมาธิการชุดต่างๆลงไปดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนเราก็จะประสานกับทางรัฐบาล และฝ่ายบริหารว่าในส่วนนี้รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างไร

อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความผูกพันกัน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หน้าที่ใคร หน้าที่มันที่จะต้องทำสอดคล้องกัน ตัดขาดกันไม่ได้ แต่ก็มีมุมมองหนึ่งส่วนจะมีข้อขัดแย้งกัน หรือเห็นคล้อยกันก็เป็นปกติ แต่ก็มีบริบทที่จะดำเนินการ ถ้ามีข้อขัดแย้งต้องทำอย่างไร ถ้าเห็นชอบจะต้องเดินหน้ากันอย่างไร

-การที่สว.ถูกมองว่า เป็นสว.สีน้ำเงิน จุดนี้สร้างอุปสรรคในการทำงานหรือไม่

ไม่หรอก ผมว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาในความเห็นต่างที่หลากหลาย แต่บังเอิญในส่วนที่เขากล่าวว่าสว.สีน้ำเงินเราก็ต้องยอมรับว่าท่ามกลางความหลากหลาย ก็มีจุดยืนของแต่ละคนมีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เรื่องสถาบัน สว.ส่วนใหญ่เห็นว่าเราต้องพิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งผมมองว่าในกลุ่มที่เห็นต่างกันในสว.ก็เป็นปกติธรรมดา จะให้คิด และมีมุมมองเหมือนกันทั้งหมดคงไม่ใช่ แม้กระทั่งในครอบครัวเราเอง 3-4 คนพ่อ แม่ ลูก ก็ยังเห็นต่างกัน

ส่วนจะทำให้เกิดเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือไม่ ก็คงไม่ใช่ เพราะในสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องมติเสียงส่วนใหญ่ ก็เป็นปกติ เป็นเรื่องของประชาธิปไตย ความคิดเห็นที่แตกต่างกันสุดท้ายแล้วความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ถ้าบริหารความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ด้วยการพูดคุย อย่างเช่นใช้ระบบรัฐสภา ก็ไม่เกิดความรุนแรง ก็เป็นไปตามระบบประชาธิปไตย สุดท้ายแล้วก็ลงมติกัน ก็ต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่

แต่ในท่ามกลางเสียงส่วนใหญ่ที่ลงมติกันไปแล้ว ต้องไม่เพิกเฉยต่อเสียงส่วนน้อย ต้องยอมรับฟัง แต่ถ้าแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยความรุนแรงถึงขั้นหลั่งเลือดที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ก็ไม่รู้จะยุติอย่างไร สุดท้ายก็ต้องมาพูดคุยกัน

สงครามทุกสงครามยุติด้วยการหารือ การเจรจา พูดคุยกัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสูญเสียขึ้นมาทั้งสองฝ่าย บ้านเมืองกลายเป็นซากปรังหักพัง พี่น้องประชาชน สังคมแตกแยก เราใช้ระบบรัฐสภาผมว่าดีที่สุดแล้ว

 -มองว่าการเลือกองค์กรอิสระที่ผ่านมา ถูกตั้งวิพากษ์วิจารณ์ว่ามักจะเลือกเอาคนของตัวเอง

ไม่หรอก เพราะกรรมาธิการที่จะต้องเลือกตั้งมาก็ต้องดู เช่นอดีตข้าราชการที่เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งเขาก็มีเครดิต ส่วนสว.ที่มาจากความหลากหลายจากกลุ่มอาชีพต่างๆท่านก็มีวิจารณญาณ มีขีดความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญที่แตกต่างกันออกไป แต่ว่ามุมมองทำมาเพียงสมัยแรกเท่านั้น พอมาสมัยประชุมครั้งที่ 2 ก็จะมีความหลากหลายขึ้นมา ก็จะจัดสรรคน คัดเลือกคนเข้าไปทำหน้าที่ในการที่จะเป็นกรรมาธิการคณะต่างๆได้แล้ว

-การทำหน้าที่ของวุฒิสภา ที่จะตอบโจทย์ แก้ปัญหาให้ประชาชนและสังคมได้นั้น เป็นต้องเป็นอย่างไร

ความสวยสดงดงามแบบนี้ ความหลากหลาย เกิดจากหลายกลุ่มอาชีพ อาจจะไม่ครอบคลุม 20 กลุ่ม หรืออาจจะไม่ถูกอกถูกใจใคร ถือว่ากระบวนการผ่านมาแล้ว รัฐธรรมนูญก็กำหนดอย่างนั้น และเป็นไปตามกระบวนการที่คัดสรรมา อาจจะมีจุดที่หลายคนมองว่ามันมีอย่างนั้น มันไม่เป็นไปตามที่เขาคิด แต่ว่าในหลักการแล้วเป็นไปตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ผมคิดว่าลองดูว่าวิธีการที่ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 200 ท่าน จากที่ 20 กลุ่มสาขาอาชีพ ถ้ามีจุดบอดอย่างไร ท่านจะแก้ไขอย่างไร ก็ค่อยปรับแก้กันไป เพราะฉะนั้นสว.ชุดนี้ผมว่าดียิ่งขึ้น เพราะทุกท่านเข้าใจบริบท เข้าใจหน้าที่ของตัวเองว่าจะต้องทำอะไรบ้าง

-หากมองย้อนกลับไปการทำงานสมัย เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 กับการเป็นรองประธานวุฒิสภา แตกต่างกันในเรื่องอะไรบ้าง

ก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่าบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบมีข้อแตกต่างกัน การทำหน้าที่เป็นแม่ทัพก็มีกรอบ มีบริบทที่เราต้องดำเนินการ ต้องตัดสินใจ แต่การทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภา ก็มีหน้าที่ที่เขามอบให้อยู่แล้ว นั่งอยู่บนบัลลังก์เป็นประธานในการประชุมเราก็ต้องรู้ว่าเราจะต้องทำอย่างไร ต้องให้ความเป็นธรรมกับสมาชิกที่จะอภิปราย ให้โอกาสที่เท่าเทียมกัน ภายใต้ข้อบังคับในการประชุม ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะเสนอความคิด บางสิ่งบางอย่างเราก็ต้องควบคุมทำให้มีความสงบเรียบร้อยในระหว่างการประชุม

บางครั้งการตัดสินใจเด็ดขาดก็สามารถนำมาใช้ในที่ประชุมได้ สมัยเป็นแม่ทัพต้องสั่งการให้คนไปปฏิบัติ ต้องมีความรับผิดชอบหากเกิดความสูญเสียขึ้น แต่การทำหน้าที่สว.ก็ต้องระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นที่อาจจะก่อให้เกิดความแตกแยก หรือพาดพิงบุคคลภายนอก ที่เขาไม่ได้อยู่ในที่ประชุม เราก็ต้องตัดสินใจ

เพราะฉะนั้นสมาชิกวุฒิสภาทุกคนเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ การที่จะทำหน้าที่ของวุฒิสภาทั้ง 4 หน้าที่หลักคือนิติบัญญัติ ควบคุมการบริหาร การคัดสรรองค์กรอิสระ และเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการต่างประเทศที่ต้องทำสนธิสัญญา หรือการเข้าร่วมในการพิจารณาเรื่องของกฎมณเฑียรบาลอะไรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน จะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะการทำงานของคณะกรรมาธิการอาจจะสุ่มเสี่ยงหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการรับผลประโยชน์ด้วย