ใกล้ผ่านพ้นเข้าไปทุกขณะ สำหรับ ปี 2024 (พ.ศ. 2567) ที่กำลังจะหมดสิ้นไป พร้อมกับปี 2025 (พ.ศ. 2568) ที่จดจ่อจะมาถึง

โดยตลอดปี 2024 ที่ผ่านมา ทางบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยา ต่างเอ่ยปากเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นปีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างโหดร้ายปีหนึ่ง

นอกจากคร่าชีวิตผู้คนพลเมืองโลกไปเป็นจำนวนมากแล้ว ก็ยังสร้างความเสียหายทางทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่าอย่างสุดเหลือคณานับ

รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐฯ ต้องกลายสภาพจมน้ำ หลังพายุเฮอร์ริเคนลูกหนึ่งพัดถล่มในปีนี้  (Photo : AFP)

ตามการเปิดเผยของ “องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอ็มโอ” (WMO : World Meteorological Organization) องค์กรซึ่งเป็นทบวงชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็น อันมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ดำเนินการศึกษาติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกในรอบปีนี้ ก่อนจัดทำเป็นรายงานเผยแพร่ออกมา

โดย “ดับเบิลยูเอ็มโอ” ระบุในรายงานว่า จากการศึกษาติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่บังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลกเรา แบบยังไม่ครบ 12 เดือนดีด้วยซ้ำ แต่ก็ได้พบกับตัวเลขอันน่าสะพรึงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวเลของผู้เสียชีวิต และความเสียหายทางทรัพย์สิน จากการได้รับผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติในรอบปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป

ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศแห่งหนึ่งของปีนี้ ซึ่งนอกจากทำลายทรัพย์สินแล้ว  ยังคร่าชีวิตผู้คนอีกต่างหากด้วย (Photo : AFP)

นอกจากนี้ มิใช่แต่เฉพาะกลุ่มประเทศยากจน หรือที่กำลังพัฒนาเท่านั้น ที่ได้รับความเสียหายอย่างน่ากังวล แม้กระทั่งกลุ่มประเทศร่ำรวย ที่ได้ชื่อว่า พัฒนาแล้ว ก็ถูกพิบัติภัยธรรมชาติเล่นงาน จนเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนอย่างน่าสะพรึงไม่แพ้กัน

ยกตัวอย่าง “สหรัฐอเมริกา” ประเทศที่ได้ชื่อว่า มหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก ปรากฏว่า ทันทีที่เริ่มฤดูใบไม้ผลิ ระหว่างช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน คือ ช่วงต้นกับกลางปีที่ผ่านมานั้น ก็ประสบกับเหตุพายุทอร์นาโดพัดถล่มเป็นประเดิม บ้านเรือนของประชาชนชาวลุงแซมพังยับเป็นบริเวณกว้าง

ตามมาด้วยการเกิดปรากฏการณ์ไฟป่า ที่เผาไหม้จากผืนป่า ลุกลามมาถึงชุมชน ที่อาศัยของชาวเมือง นอกจากนี้ ยังเกิดพายุเฮอร์ริเคนหลายต่อหลายลูก ซึ่งทั้งไฟป่า และมหาวาตภัยพายุเฮอร์ริเคน ก็ถูกจัดให้เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติประจำประเทศสหรัฐฯ ก็ว่าได้ เพราะผจญภัยกันเป็นประจำทุกปี และแต่ละปีก็หลายระลอกอีกต่างหากด้วย

รายงานการศึกษาติดตามของ “ดับเบิลยูเอ็มโอ” ระบุว่า สหรัฐฯ ผจญกับภัยธรรมชาติที่สืบเนื่องจากความวิปริตแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศไม่น้อยกว่า 24 ครั้งในรอบปีนี้

พร้อมยกตัวอย่าง พิษภัยของพายุเฮอร์ริเคนที่ชื่อ “เฮเลน” พัดกระหน่ำพื้นที่รัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมานั้น ก็ก่อให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องคิดเป็นอัตราเฉลี่ยก็สูงถึง 20 นิ้ว เป็นเหตุให้เกิดภาวะน้ำท่วมสูงฉับพลันตามมาบริเวณกว้างหลายพื้นที่

ทาง “ดับเบิลยูเอ็มโอ” ยังคาดการณ์ไว้ในรายงานด้วยว่า สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ อันสืบเนื่องจากวิกฤติแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่จำนวนมากขึ้น คือ เกิดถี่ขึ้น และมีความรุนแรงมากขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

ในขณะเดียวกัน หลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็ประสบกับเหตุแผ่นดินไหว เช่น ที่อิหร่าน และน้ำท่วมสูงฉับพลันครั้งใหญ่ สร้างความเสียหายกันอย่างหนัก อาทิเช่นที่เกิดกับประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในนครดูไบ

นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องกลายสภาพจมน้ำ จนเรือพายบนท้องถนนถึงบริเวณด้านหน้าอาคารที่พักได้ สืบเนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องและน้ำท่วมสูงฉับพลันตามมา (Photo : AFP)

ขณะที่ พื้นที่สองริมฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นฟากตะวันออก อันเป็นภูมิภาคอเมริกา ทั้งอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และทางฝั่งตะวันตก คือ ภูมิภาคเอเชีย ก็เผชิญกับภาวะคลื่นอากาศร้อนจัด ซึ่งภาวะคลื่นอากาศร้อนข้างต้น ก็ส่งผลให้เกิดพายุลูกใหญ่ที่พัดกระหน่ำอย่างรุนแรงตามมาหลายระลอก โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป

อย่างทางฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ข้ามมาถึงมหาสมุทรแอตแลนติก เรียกว่า พายุเฮอร์ริเคน ส่วนทางฟากตะวันตกของสมุทรแปซิฟิก คือ ภูมิภาคเอเชียเรา ก็เรียกว่า พายุไต้ฝุ่น แต่ไม่ว่าจะชื่ออะไรก็ล้วนสร้างความเสียหายให้แก่มนุษยชาติเราแทบทั้งสิ้น

ยกตัวอย่าง พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” จากมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นระดับซูเปอร์ไต้ฝุ่น ระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับความรุนแรง หรือความเร็วลมขั้นสูงสุด พัดถล่มในหลายพื้นที่ของทางฟากตะวันตกของมหาสมุทรแห่งนี้ นอกจากแรงพายุจะพัดกระหน่ำจนสร้างความเสียหายในเบื้องต้นแล้ว อิทธิพลของพายุ ก็ยังทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง จนกลายเป็นน้ำท่วมสูงฉับพลันในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม เมียนมา หรือหลายจังหวัดในภาคเหนือของไทยก็ตาม จนมีผู้เสียชีวิตรวมแล้วไม่น้อยกว่า 600 คน เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากน้ำท่วมและดินโคลนถล่มด้วยสภาพที่น่ากลัว

ขณะที่ หลายประเทศในภูมิภาคยุโรป ก็เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ อันสืบเนื่องจากวิกฤติอากาศแปรปรวนเช่นกัน

ยกตัวอย่างพื้นที่ที่เสียหายอย่างหนักในปีนี้ นั่นคือ “สเปน” หลังพิษภัยของพายุ ได้ส่งอิทธิพลให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝน ได้ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมสูงฉับพลันเป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ของแคว้นบาเลนเซีย ทางภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งน้ำที่ท่วมสูง ยังพัดพาเอาดินโคลนลงมาถล่มชุมชนหลายแห่งอีกด้วย ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 231 ราย มูลค่าความเสียหายก็ไม่น้อยกว่า 3.5 พันล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยก็ราวกว่า 1.25 แสนล้านบาท

สภาพความเสียหายในเมืองแห่งหนึ่งของแคว้นบาเลนเซีย ประเทศสเปน หลังประสบน้ำท่วมสูงฉับพลันและดินโคลนถล่มตามมา (Photo : AFP)

นอกจากนี้ ยังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย และปากีสถาน รวมถึงอัฟกานิสถาน ในภูมิภาคเอเชียกลาง ที่ผจญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ เช่น น้ำท่วมสูงฉับพลัน ดินโคลนถล่ม คร่าชีวิตผู้คน และทรัพย์สินไปอย่างมหาศาล โดยทาง “ดับเบิลยูเอ็มโอ” เรียกร้องให้ทุกภาคส่วน เร่งแก้ไขวิกฤติภาวะโลกร้อน ซึ่งถือเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ข้างต้น ไม่ให้เลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่ 

เหตุฝนตกหนักจนก่อให้เกิดดินโคลนถล่มที่อินเดีย ที่คร่าชีวิตผู้คน และยังทำลายบ้านเรือน ตลอดจนทรัพย์สินต่างๆ (Photo : AFP)