ผู้ว่าฯ อุตรดิตถ์ เตรียมจัดงานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาด ประจำปี 2568 อย่างยิ่งใหญ่ เทิดเกียรตินักรบผู้กล้าพระยาพิชัยดาบหัก ทหารเอกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และให้ประชาชนมีโอกาสร่วมบุญชิงรางวัลไข่กาชาด
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   ที่บริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัด นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ  ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วย นางสาวนิรชา บัณฑิตย์ชาติ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นางสายสมร  ทองกองทุน  รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ และ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ฯ  ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “พระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาด” ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 7 – 16 มกราคม 2568 เพื่อเป็นการเทิดเกียรติวีระชนพระยาพิชัยดาบหักให้ประชาชนได้มีโอกาสสักการะ พระยาพิชัยดาบหักและเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ในโอกาสนี้ครั้งนี้เหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ยังได้จัดกิจกรรม “วันรวมน้ำใจกาชาด” ขึ้น เพื่อเปิดรับบริจาคในการรวมน้ำใจออกร้านกาชาด โดยมีหน่วยงานราชการ ทั้ง ภาครัฐ เอกชน ห้างร้าน ร่วมนำสิ่งของมาร่วมบริจาคให้กับเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอำเภอทั้ง 9 อำเภอ ต่างขนสิ่งของมาร่วมบริจาคด้วย


สำหรับการจัดงานในครั้งนี้มีการออกร้านของเหล่ากาชาด การตักไข่กาชาด  การออกสลากกาชาด เพื่อจัดหารายได้ช่วยการกุศลและบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ของจังหวัดอุตรดิตถ์และกิจการของเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์  นอกจากนี้   ยังมีการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ OTOP ของแต่ละอำเภอและส่วนราชการ  รวมทั้งการออกร้านและการประกวดร้านของทั้ง 9 อำเภอ  การแสดงบนเวทีกลาง เช่นการประกวดร้องเพลง ท้องถิ่นท้องที่สามัคคีเสียงทอง การประกวดนางสาวอุตรดิตถ์และขุนศึกคู่ใจพระยาพิชัยดาบหัก การเดินแบบผ้าไทยมหากุศล การแสดงดนตรีของศิลปินชื่อดังและการแสดงบนเวทีกลางมากมายตลอด 10 วัน 10 คืน ที่บริเวณสนามกีฬาพระยาพิชัยดาบหัก อำเภอเมืองอุตรดิตถ์


พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่บ้าน ห้วยคา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2284 ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ศึกษาอยู่กับท่านพระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลัง จ้อยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี หรือ ทองดีฟันขาว มีความสามารถทั้งทางเชิงมวยและเชิงดาบ เข้ารับราชการกับพระเจ้าตากสิน ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็นองค์รักษ์มีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงพิชัยอาสา” เมื่อรับราชการมีความดีความชอบจึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช และพระยาพิชัย ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย ซึ่งรับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ตามลำดับ ภายหลังพม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย 2 ครั้ง ในการรบครั้งที่ 2 พระยาพิชัยถือดาบสองมือ ออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงไดัรับสมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก"


ในปี พ.ศ. 2311 พม่าได้ยกทัพมาอีก 1 หมื่นคน พระเจ้าตากพร้อมด้วยหมื่นไวยวรนาถได้เข้าโจมตีจนแตกพ่าย และได้มีการสู้รบปราบก๊กต่าง ๆ อีกหลายคราว เมื่อพระเจ้าตากสินเสด็จกลับกรุงธนบุรี โปรดตั้งเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็น “พระยาสีหราชเดโช” มีตำแหน่งเป็นนายทหารเอกราชองครักษ์ตามเดิม สุดท้ายเมื่อปราบก๊กพระเจ้าฝางได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบให้ทหารของพระองค์โดยทั่วหน้า ส่วนพระยาสีหราชเดโช (จ้อย หรือ ทองดี ฟันขาว) นั้น ได้โปรดเกล้าฯ บำเหน็จความชอบให้เป็นพระยาพิชัยปกครองเมืองพิชัย อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนแต่เยาว์วัย


ในปี พ.ศ. 2313 – 2316 ได้เกิดการสู้รบกับกองทัพพม่าอีกหลายคราว และทุกคราวที่กองทัพพม่าแตกพ่ายไป ก็สร้างความอัปยศอดสูแก่แม่ทัพนายกองเป็นทวีคุณ พอสิ้นฤดูฝนปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 โปสุพลายกกองทัพมาหมายตีเมืองพิชัยอีก “การศึกครั้งนี้พระยาพิชัยจับดาบสองมือคาดด้าย ออกไล่ฟันแทงพม่าอย่างชุลมุน จนเมื่อพระยาพิชัยเสียการทรงตัว ก็ได้ใช้ดาบข้างขวาพยุงตัวไว้ จนดาบข้างขวาหักเป็นสองท่อน” กองทัพโปสุพลาก็แตกพ่ายกลับไป เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 (ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2316) 
พระยาพิชัยดาบหัก ได้สร้างมรดกอันควรแก่การยกย่องสรรเสริญให้สืบทอดมาถึงปัจจุบัน   ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดกล้าหาญรวมถึงความรักชาติ ต้องการให้ชาติเจริญรุ่งเรืองมั่นคงตลอดมาตราบจนทุกวันนี้


“อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก” ประดิษฐานอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอเมือง สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเกียรติในเรื่องความ องอาจ กล้าหาญ รักชาติและเสียสละของท่าน ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ และ นายเวทน์ นิจถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้น   ได้พร้อมใจกันสร้าง อนุสาวรีย์ของท่านประดิษฐานไว้หน้าศาลากลางจังหวัด และ ทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512  


นอกจากนี้ บริเวณอนุสาวรีย์   ยังมีพิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นที่เก็บรักษาดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลก   มีน้ำหนัก 557.8 กิโลกรัม ฝักดาบทำด้วยไม้ประดู่ ฝังลวดลายมุกหุ้มปลอกเงินสลักสลาย และ “พิพิธภัณฑ์พระยาพิชัย”  ที่ภายในเก็บรวบรวมประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก รวมทั้งแบบจำลองสนามรบ และ  วิถีชีวิตผู้คนเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยโบราณ