นับเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรที่อพยพไปพำนักอาศัยในประเทศต่างๆ มากที่สุดประเทศหนึ่ง
สำหรับ กลุ่มประชากรของประเทศซีเรีย
ประเทศที่อาจกล่าวได้ว่า ได้รับความเดือดร้อนจาก “ปรากฏการณ์อาหรับสปริง” ที่ยาวนานที่สุด ในเหล่าบรรดาประเทศที่เผชิญกับ “ปรากฏการณ์อาหรับสปริง” ปรากฏการณ์ที่บังเกิดขึ้นเขย่าบัลลังก์ของพวกผู้นำจอมเผด็จการกระเดื่องนามโลกหลายประเทศ ของ “ภูมิภาคตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือ” หรือ “มีนา (MENA : Middle East – North Africa) ที่มีอันต้องถูกโค่นล้มไปหลายต่อหลายคน ตามการลุกลามของปรากฏการณ์ที่ขยายไปในหลายประเทศของภูมิภาคมีนาข้างต้น
อาทิ เช่นพ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ผู้นำอียิปต์ เป็นต้น
กระทั่งรายล่าสุด คือ ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำซีเรีย ที่เพิ่งถูกกลุ่มกบฏโค่นอำนาจไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่เพิ่งผ่านพ้นมา
โดยปรากฏการณ์อาหรับสปริงที่ว่า เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2010 (พ.ศ. 2553) นับถึงวันนี้ก็กว่า 14 ปีแล้ว เกิดขึ้นแบบทยอยลุกลามไปในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคมีนา เริ่มจากที่ประเทศตูนิเซีย เป็นปฐม เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2010 (พ.ศ. 2553) จบลงที่ประธานาธิบดีเบน อาลี ที่ปกครองตูนิเซียมาตั้งแต่ปี 1987 (พ.ศ. 2530) ถูกโค่นอำนาจไป
ส่วนที่ซีเรียนั้น ปรากฏการณ์อาหรับสปริง ก่อให้เกิด “สงครามกลางเมือง” เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2011 (พ.ศ. 2554) หรือเมื่อ 13 ปีกว่า จากการกลุ่มกบฏต่างๆ พยายามโค่นล้มอำนาจของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2000 (พ.ศ. 2543) ถึงวันที่เขาถูกโค่นอำนาจเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็เป็นระยะเวลานานถึง 24 ปี แต่ที่นับรวมรุ่นบิดาของประธานาธิบดีอัสซาด คือ นายฮาฟิซ ก็ต้องถอยหลังไปอีก 30 ปี ที่ตระกูลอัสซาดปกครองซีเรีย มาอย่างยาวนานรวมแล้วเป็นเวลากว่า 50 ปี หรือครึ่งศตวรรษเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ในช่วง “สงครามกลางเมือง” ซึ่งกลุ่มกบฏสู้รบกับกองทัพรัฐบาลดามัสกัสของประธานาธิบดีอัสซาดอย่างดุเดือด ผนวกกับเกิดเหตุสู้รบแทรกซ้อนในเหตุ “สงครามก่อการร้าย” จากกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส หรือไอซิส ที่ครองอิทธิพลในพื้นที่ภาคตะวันออกของซีเรียคาบเกี่ยวกับตอนเหนือของประเทศอิรัก ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2015 (พ.ศ. 2558) ก็ต้องถือว่า ประชาชนชาวซีเรียเดือดร้อน ได้รับผลกระทบทั้งจากสงครามกลางเมือง และสงครามก่อการร้าย อย่างแสนสาหัส
ถึงขนาดมิอาจทนพำนักอาศัยในซีเรีย ประเทศมาตุภูมิบ้านเกิดของพวกเขาอีกต่อไปได้ ต้องอพยพโยกย้ายลี้ภัยออกนอกพรมแดนไปพำนักอาศัยในประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลางเอง หรือถึงขั้นข้ามน้ำข้ามทะเล ไปยังอีกทวีปที่ห่างไกลออกไป เช่น ยุโรป เป็นต้น
ตามการประเมินของหน่วยงานด้านผู้อพยพลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุว่า พลเมืองชาวซีเรีย ต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานบ้านเดิมจากประเทศของตนไปยังประเทศต่างๆ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 7.4 ล้านคน
ขณะที่ หน่วยงานบางแห่งระบุว่า ดีไม่ดีอาจจะมากกว่า 13 ล้านคนด้วยซ้ำ สำหรับ ประชากรชาวซีเรียที่อพยพหนีภัยการสู้รบและความรุนแรงเป็นประการต่างๆ ในประเทศซีเรียบ้านเกิดของตน นับตั้งแต่เกิดการสงครามกลางเมือง ต่อเนื่องด้วยสงครามการก่อการร้าย ตลอดช่วงระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา ที่เปรียบเสมือนเป็นปัจจัยบีบบังคับให้ต้องอพยพลี้ภัย
โดยประเทศจุดหมายปลายทางที่พลเมืองชาวซีเรีย หนีภัยการสู้รบ และความรุนแรงดังกล่าว ก็มีหลายประเทศด้วยกัน แต่หลักๆ ที่เป็นหมุดหมายสำหรับการอพยพลี้ภัย ก็มี 9 ประเทศ ที่เข้าไปอาศัยอยู่จนกลายเป็นชุมชนของพวกเขา ตามการศึกษาติดตามสถานการณ์ ได้แก่ ตุรเคีย เลบานอน เยอรมนี อิรัก อียิปต์ ออสเตรีย สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และกรีซ
ตามตัวเลขที่ระบุไว้ว่า มีพลเมืองชาวซีเรีย อพยพลี้ภัยเข้าไปมากที่สุด นั่นคือ
“ตุรเคีย” ด้วยจำนวนมากกว่า 3.2 ล้านคน
รองลงมาเป็น “เลบานอน” จำนวนเกือบ 8 แสนคน
ตามาด้วย “เยอรมนี จำนวนกว่า 7.1 แสนคน
“อิรัก” จำนวน 2.9 แสนคน
“อียิปต์” จำนวน 1.6 แสนคน
“ออสเตรีย” จำนวน 9.8 หมื่นคน
“สวีเดน” จำนวน 8.7 หมื่นคน
“เนเธอร์แลนด์” จำนวน 6.6 หมื่นคน
และ “กรีซ” จำนวนเกือบ 6 หมื่นคน
อย่างไรก็ดี ในบางประเทศที่ชาวซีเรียอพยพเข้าไปเหล่านี้ ก็ต้องกลายเป็นผู้อพยพซ้ำ ลี้ภัยซ้อน กันก็มีเช่นกัน นั่นคือ ชาวซีเรียอพยพในเลบานอน ซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 นั้น ปรากฏว่า จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ที่ต้องเก็บข้าวของโยกย้ายถิ่น เพื่ออพยพหนีภัยการสู้รบกันอีกครั้ง เมื่อกองทัพอิสราเอล ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเข้าใส่เป้าหมายกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งการโจมตีเป็นไปอย่างหนักหน่วง จนกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวซีเรียในเลบานอน ถึงขั้นมิอาจทนอยู่ต่อไปได้
นอกจากนี้ ในการลี้ภัยเข้าไปอาศัยในบางประเทศ พวกเขาก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านประชาชนพลเมืองของประเทศดั้งเดิม เช่น ที่เยอรมนี โดยล่าสุด ผู้อพยพชาวจากตะวันออกกลาง ที่มิใช่มีแต่เฉพาะซีเรียเท่านั้น ดูจะออกอาการร้อนๆ หนาวๆ กับกระแสของพวกฝ่ายขวา หลังเกิดเหตุจิตแพทย์ชาวซาอุดีอาระเบียขับรถพุ่งชนผู้คนในตลาดคริสต์มาส เมืองมักเดบวร์ก ถึงขนาดที่กลุ่มฝ่ายขวา เรียกร้องให้นำผู้อพยพออกนอกประเทศเยอรมนีไปเลย
เมื่อเผชิญกับภัยสู้รบอย่างต่อเนื่อง และผจญกับกระแสต่อต้านจากพลเมืองเจ้าของประเทศที่เข้าไปลี้ภัยอยู่ แต่จะให้พวกเขากลับมาลงหลักปักฐานในซีเรียประเทศบ้านเกิดของตนหรือไม่? ก็ดูจะเป็นการยาก เพราะจากการประเมินก็พบว่า ยังน่าวิตกกังวลจากการประจันหน้าของพวกกบฏกลุ่มต่างๆ ที่ครองอิทธิพลในแต่ละพื้นที่ สุ่มเสี่ยงสูงที่จะเกิดการสู้รบระหว่างกันได้