วันที่ 20 ธ.ค. 2567 เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลัง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และภาคีเครือข่าย 19 องค์กร จัดงาน “มหกรรมสุขภาพ Parliament Health 2024” ภายใต้โครงการรัฐสภาร่วมใจรวมพลังสร้างสุข : การเสริมสร้างศักยภาพเพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐสภาองค์กรแห่งความสุข เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรัฐสภา สส. สว. ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง มีองค์ความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพที่ดีทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ รวมถึงเกิดความตระหนักรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืน
นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา กล่าวว่า จากรายงานผลตรวจสุขภาพบุคลากรรัฐสภา จำนวน 1,859 คน ปี 2566 พบว่า มีบุคลากรป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs โดยมีไขมันในเลือดสูง 67.30% ภาวะโภชนาการ 64.14% ความสมบูรณ์เม็ดเลือดไม่ปกติ 40.53% และระดับกรดยูริกในเลือดสูง 25.38% โรค NCDs สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง รับประทานอาหารหวาน มัน เค็มจัด ความเครียดจากภาระงาน และมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ จากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐสภาจึงร่วมกับ สสส. จัดงานมหกรรมสุขภาพฯ ภายใต้โครงการรัฐสภาร่วมใจรวมพลังสร้างสุขฯ เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรรัฐสภามีองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพทุกมิติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace Happy Life) ด้วยแนวคิด “สุขกาย สบายใจ ไร้หนี้ ชีวีมีสุข” ภายในปี 2570 เป็นโมเดลองค์กรต้นแบบด้านสุขภาวะ ที่พัฒนาให้คนวัยทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพของไทย อยู่ที่อันดับ 5 ของโลก แต่มีอายุคาดเฉลี่ยปี 2567 อยู่ที่ 76.56 ปี เป็นอันดับ 78 ของโลก ซึ่งข้อมูลล่าสุดในปี 2565 พบสาเหตุการตายในกลุ่มอายุน้อยและวัยทำงาน 170,000 คน สาเหตุจากอุบัติเหตุและโรค NCDs สอดคล้องกับรายงานสุขภาพคนไทยปี 2566 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และ สสส.พบว่า ไทยมีคนวัยทำงานอยู่ 39 ล้านคน และส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรค NCDs โดยมีสาเหตุมาจาก 4 ปัจจัยหลัก 1.คนวัยทำงาน 1 ใน 5 มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ทุกวัน 2.คนวัยทำงานดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ 3.รับประทานอาหารจากร้านและตลาดเน้นหวาน มัน เค็มจัด 4.ขาดการออกกำลังกาย ที่ผ่านมา รัฐสภา ร่วมกับ สสส. ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ได้พัฒนาให้เกิดระบบเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ และระบบที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะในระดับปฐมภูมิ พัฒนานวัตกรรมไลน์ OA “หมอสภา” เพื่อใช้บันทึกข้อมูลด้านสุขภาพและวางแผนดูแลสุขภาพในระยะยาว พัฒนานวัตกรรมหนังสือความรู้ด้านสุขภาพ เรื่อง “เส้นทางสู่ผู้นำสุขภาพ” เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาและประชาชนใช้เป็นคู่มือป้องกันโรค NCDs เกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และนักสร้างสุของค์กรผู้นำสุขภาพ 345 คน
“ในปี 2567 สสส. ยังคงมุ่งมั่นร่วมกับรัฐสภา ขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร มุ่งหวังให้รัฐสภาเป็นโมเดลองค์กรสุขภาวะต้นแบบยั่งยืน ด้วยการใช้แนวคิด องค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace) มีแนวทางการดำเนินงาน 4 ด้าน 1.พัฒนาสุขภาวะบุคลากร 4 มิติ ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ สังคมดี และมีสุขภาวะทางปัญญา 2.จัดทำแผนปฏิบัติการสร้างสุขในองค์กร โดยมุ่งเน้นความยั่งยืนและความต่อเนื่อง 3.สร้างนวัตกรรมและเครื่องมือสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร 4.ขยายผลองค์กรสุขภาวะ ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก เช่น ภาคียุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพ และสถาบันการศึกษา เพื่อขยายความร่วมมือกับองค์กรรัฐและเอกชน ส่งต่อโมเดล “องค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace)” ที่ทุกองค์กรสามารถนำไปปรับใช้ได้ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กร เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและแนวทางปฏิบัติที่ดีและยั่งยืน” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว