วันที่ 17 ธันวาคม 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) เปิดงานทิศทางประเทศไทยกับภารกิจด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานใน 6 สาขาความเสี่ยง เพื่อขยายผลการขับเคลื่อนจากส่วนกลางไปสู่ระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร



​นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากข้อมูล IPCC ระบุว่า ที่ผ่านมาอุณภูมิของโลกได้เพิ่มสูงขึ้นแล้ว 1.3 องศาเซลเซียส และในอีก 5 ปีข้างหน้า มีโอกาสที่จะเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งผลกระทบที่สำคัญ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ปะการังเสี่ยงอยู่ในภาวะฟอกขาว เกิดภัยแล้งรุนแรงในบางภูมิภาคของโลก ผลผลิตทางการเกษตรลดลง อีกทั้งรูปแบบของภูมิอากาศทั่วโลกในบางพื้นที่ เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้วเมื่อเทียบกับอดีต สำหรับประเทศไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงที่รุนแรงและยากต่อการคาดการณ์มากขึ้น เช่น ภาคใต้เกิดฝนตกหนักแบบกระจุกตัว (Rainbomb) เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่ม ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 7 แสนครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 35 ราย มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 5 พัน – 1 หมื่นล้านบาท และจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาตัวชี้วัดเป้าหมายด้านการปรับตัวระดับโลก (Global Goal on Adaptation : GGA) โดยจะสรุปผลการจัดทำตัวชี้วัดดังกล่าวในการประชุมที่บอนน์ ประเทศเยอรมนี ในช่วงกลางปีหน้า ขณะที่เป้าหมายการสนับสนุนทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (BAKU Finance Goal) มีมติเห็นชอบการระดมเงินทุนจากประเทศพัฒนาแล้ว ๓ แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ภายในปี พ.ศ. 2578 ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จึงเสนอวงเงินที่ต้องการอย่างน้อย 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ



สำหรับประเทศไทย ได้ถูกจัดอันดับประเทศที่ได้รับความเสี่ยงจากเหตุการณ์ภูมิอากาศสุดขั้ว เป็นอันดับ 9 ของโลก จำเป็นต้องเร่งดำเนินการเรื่องการปรับตัว ซึ่งที่ผ่านมา ทส. โดยกรมลดโลกร้อน ได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP) ที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านการปรับตัวระดับโลก และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งในปี 2568 จะจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายสาขา (Thailand’s Action Plan on Adaptation) เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการปรับตัวสู่ระดับพื้นที่ โดยจะมีโครงการสำคัญ (Flagship Project) ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาข้อมูลการคาดการณ์ภูมิอากาศในระยะยาวจากแบบจำลองภูมิอากาศ และการปรับปรุงแผนที่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการวางแผนและกำหนดนโยบาย อีกทั้ง ทส. ได้ลงนาม MOU ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวฯ สาขาสาธารณสุขภายใต้แผน NAP เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และจะมีแผนจะลงนาม MOU ให้ครบ 5 สาขา ประกอบด้วยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายด้านการปรับตัวระดับโลกและระดับประเทศ สู่ระดับจังหวัดและท้องถิ่น โดยจะเชื่อมโยงกับการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่ รับผิดชอบโดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด



สำหรับงานในวันนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน