เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เข้าร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางชุมชน ทิศทางประเทศไทย” ภายในงาน “15 ปีสัมมาชีพ สานพลังไทย สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยมี ดร.อุตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความเห็น
นายนิพนธ์กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานที่คลุกคลีกับประชาชนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จนถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “หากต้องการทำให้ประเทศไทยเข้มแข็ง ต้องสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก นั่นคือชุมชนและท้องถิ่น” ซึ่งหากทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศก็เข้มแข็ง ซึ่งการกระจายอำนาจถือเป็นหัวใจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ จะเห็นได้ว่าในอดีตความเจริญถูกกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่หรือมหานคร ขณะที่ชนบทยังคงขาดแคลนทุกอย่าง
โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทุุกด้านและโอกาสในการพัฒนา แม้ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีความพยายามในปรับปรุงชนบทผ่านการสร้างสาธารณูปโภค แต่เมื่อเริ่มยกฐานะ สภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อปี 2537 ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทเริ่มลดลง และถึงวันนี้คงเหลือแต่เพียง เมืองขนาดเล็ก ขนาดกลางและเมืองขนาดใหญ่
“วันนี้เราต้องตั้งคำถามกันและหาแนวทางกันว่า จะทำอย่างไรให้เมืองมีความเหลื่อมล้ำน้อยลง ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน เพราะหากทำได้ ความยากจนเชิงโครงสร้างก็จะลดลง และชุมชนก็จะสามารถยืนหยัดได้อย่างยั่งยืน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองมหานครกับเมืองขนาดเล็กขนาดกลาง เราต้องเร่งสร้างเมืองมหานครใหม่ ๆ ในภูมิภาค ให้เติบโตเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองขนาดเล็ก พร้อมกระจายความเจริญสู่ทุกภูมิภาค เราต้องกระจายความเจริญไปให้ทั่วทุกพื้นที่ ทำให้ทุกจังหวัดสามารถเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาได้เหมือนกรุงเทพฯ นี่ต่างหากคือทางรอดในการลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง” นายนิพนธ์ กล่าว
นายนิพนธ์ ยังวิพากษ์นโยบายการแจกเงินที่ฝ่ายการเมืองมักใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยชี้ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และส่งผลให้ชุมชน สังคมยิ่งอ่อนแอลง “การแจกเงินเหมือนการแจกปลา แต่ไม่สอนให้จับปลา สุดท้ายคนก็จะรอแค่ว่า รัฐบาลจะแจกอะไรต่อไป โดยไม่คิดถึงการสร้างโอกาสหรืออาชีพที่ยั่งยืน
“การแก้ไขปัญหาความยากจนที่แท้จริง ต้องมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากอาชีพ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และกระจายโอกาสให้เท่าเทียมกัน ที่สำคัญ ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด มองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละพื้นที่ แทนที่จะใช้ยาแก้ปวดสูตรเดียว แก้ทั้งประเทศ การจะแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ ต้องเหมือนหมอที่วินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำ ต้องจ่ายยาให้เหมาะสมกับคนไข้ เพราะแต่ละพื้นที่ แต่ละตำบล ต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน เราจึงต้องวางนโยบายที่ตอบโจทย์ของพื้นที่นั้นอย่างแท้จริง” นายนิพนธ์กล่าว
นายนิพนธ์ กล่าวว่า แทนที่รัฐบาลจะมุ่งเน้นการแจกเงินแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลควรเปลี่ยนแนวทางไปสู่การพัฒนาคน โดยสร้างทักษะและความรู้ที่เท่าทันเทคโนโลยีในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชน ลดเวลาเรียนที่ไม่จำเป็น และมุ่งเน้นการเรียนรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดอาชีพและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง
นายนิพนธ์ กล่าวว่า สิ่งที่พูดคุยกันในเวทีนี้จะต้องไม่เป็นเพียงแค่คำพูดที่ลอยอยู่ในอากาศ แต่ต้องนำมาสู่การปฏิบัติจริง โดยเน้นการหาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน และเดินหน้าไปพร้อมกัน หากเราร่วมมือกันในสิ่งที่เห็นตรงกัน มันจะสร้างพลังและพลวัตรที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศได้อย่างแท้จริง และหากเรากระจายอำนาจ กระจายโอกาสให้ทุกคนอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ก็จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้ อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนที่ทุกคนปรารถนาอย่างยั่งยืน