รูดม่าน ปิดฉาก ไปเป็นที่เรียบร้อย

สำหรับ “การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย สมัยที่ 16” หรือ “ยูเอ็นซีซีดี ค็อป 16” (UNCCD COP16 : United Nation Convention to Combat Desertification Conference of Parties 16) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ค็อป 16” ซึ่งมีขึ้นที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น

สถานที่จัดประชุม “ยูเอ็นซีซีดี ค็อป16” ที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย (Photo : AFP)

โดยการประชุมหารือมีขึ้นตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนจบสิ้น ปิดฉากการประชุมไป ซึ่งต้องบอกว่า ปิดฉากอย่างไม่สวยหรูสักเท่าไหร่ สำหรับ การประชุมดังกล่าว ที่ 2 ปีมีครั้ง คือ จัดการประชุมในทุกๆ 2 ปี นั่นเอง

เมื่อปรากฏว่า ตัวแทนจาก 197 ประเทศ ที่ตบเท้าเข้าร่วมประชุมข้างต้น ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้งทั่วโลก

แม้ว่าตัวแทนจาก 197 ประเทศเหล่านั้น จะหารือลากยาวตลอดช่วง 2 สัปดาห์ก่อนดังกล่าวแล้วก็ตาม กระทั่งปิดฉากการประชุมไปเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ที่ประชุมก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้งทั่วโลก ท่ามกลางความหวังของหลายๆ ประเทศที่ผจญชะตากรรมกับปัญหาภัยแล้งกันทุกปี ซึ่งยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน แถมมิหนำซ้ำแต่ละปีที่ผ่านมา ก็มีแนวโน้มว่า ภัยแล้งจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากด้วย

ทั้งนี้ เหล่าบรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า ภัยแล้งที่เป็นปัญหานั้น เหตุปัจจัยก็มาจาก “วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ “ภาวะโลกร้อน” นั่นเอง

โดยสถานการณ์วิกฤติภาวะโลกร้อน ณ ปัจจุบัน ทางสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ก็บอกว่า ทวีความรุนแรงลามเลยเกินภาวะโลกร้อน จนกลายเป็น “ภาวะโลกเดือด” ไปแล้ว

พร้อมกันนั้น ภาวะโลกร้อน โลกเดือด ก็ส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งตามมาในหลายพื้นที่ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในช่วงที่ผ่านมา และก็มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ปัญหาภัยแล้งจากผลพวงของภาวะโลกร้อน โลกเดือดนี้ จะส่งผลพ่นพิษลากยากต่อไปอย่างต่อเนื่อง หากยังไม่รีบเร่งดำเนินการแก้ไข หามาตรการ แนวทางต่างๆ มาคลี่คลาย

ด้วยประการฉะนี้ ทางสหประชาชาติ จึงได้พยายามสร้าง “มติระดับโลก” ขึ้น เพื่อหวังว่าจะให้มีผลผูกพัน เป็นพันธสัญญาของประเทศต่างๆ ประชาคมโลก รวมไปถึงข้อผูกพันทางกฎหมาย คือ มีผลบังคับใช้แบบกฎหมาย มิใช่วาทะลอยลม เป็นคำสัญญาปากเปล่า ที่พร้อมจะบิดเบี้ยวได้เสมอเท่านั้น

โดยข้อผูกมัด ผูกพัน ทางกฎหมาย ตามที่ทางสหประชาชาติ จะให้มีผลบังคับใช้ต่อประเทศต่างๆ ตามข้อตกลงกันก็คือ การบังคับให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่ร่ำรวย พัฒนาแล้ว จัดสรรงบประมาณ เพื่อเป็นเงินทุน ในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่บังเกิดขึ้นทั่วโลก

ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินทุนข้างต้น สำหรับใช้ในระบบเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยให้ประเทศต่างๆ ที่กำลังจะประสบภัยแล้งไม่กี่อึดใจข้างหน้า สามารถเตรียมตัวรับมือได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ เงินทุนจากบรรดาประเทศร่ำรวย และพัฒนาแล้วดังกล่าว อีกส่วนหนึ่งก็ยังนำมาใช้เพื่อการก่อสร้าง ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การชลประทาน สร้างแหล่งเก็บน้ำ ให้เป็นเครื่องมือสำหรับการต่อสู้กับปัญหาภัยแล้งในกลุ่มประเทศยากจนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ผจญชะตากรรมกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่มีทุนรอน เครื่องมือเครื่องใช้ในการสู้ภัยแล้วที่พวกเขาเผชิญมาอย่างยืดเยื้อยาวนานรุนแรงเหลือประมาณ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ในระหว่างที่ตัวแทนจาก 197 ประเทศเข้าร่วมประชุม “ยูเอ็นซีซีดี ค็อป 16” ข้างต้นนั้น ทางสหประชาชาติ ก็ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งตามมาด้วยว่า หากภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินอยู่ต่อไปเช่นนี้ ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาภัยแล้ง กระทบต่อประชาคมโลกราว 5 พันล้านคน ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งมิใช่แต่เฉพาะกลุ่มประเทศยากจนเท่านั้นที่เผชิญ แม้แต่พลเมืองในประเทศของภูมิภาคที่ร่ำรวย พัฒนาแล้ว ก็ยังต้องประสบได้รับผลกระทบจากภัยแล้งด้วยเช่นกัน

บรรยากาศภายในห้องประชุม “ยูเนซีซีดี ค็อป16” ที่กรุงริดยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีตัวแทนจาก 197 ประเทศเข้าร่วมประชุม (Photo : AFP)

ไม่ว่าจะเป็นประชากรในประเทศของภูมิภาคยุโรปส่วนใหญ่ บางพื้นที่ในภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ล้วนได้ชื่อว่าเป็นประเทศร่ำรวย พัฒนาแล้ว โดยสัญญาณที่แสดงออก สะท้อนให้เห็นถึงภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลให้เกิดภัยแล้งตามมาในบริเวณแถบนี้ที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือ การเกิดปรากฏการณ์ไฟป่าเผาผลาญรุนแรงขึ้นในกลุ่มประเทศเหล่านี้

ส่วนประเทศอื่นๆ ตามที่ระบุในรายงานของสหประชาชาติข้างต้น ก็ได้แก่ บราซิล ถิ่นแซมบา โดยภัยแล้งได้คุกคาม แม้พื้นที่ชุ่มน้ำในผืนป่าแอมะซอนอันเลื่องชื่อ นอกจากนี้ ก็ยังมีกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแอฟริกากลาง โดยรายงาน ประมาณการว่า ประชากรในพื้นที่ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะผจญกับปัญหาภัยแล้ง อย่างหนักหน่วง และมีอัตราเพิ่มขึ้น โดยทางสหประชาชาติ เร่งให้บรรดาทางการประเทศต่างๆ ร่วมมือกันสกัดวิกฤติภาวะโลกร้อน และรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่จะทวีความรุนแรงขึ้นให้ได้ก่อนสิ้นศตวรรษนี้

รายงานของสหประชาชาติ ยังระบุแจ้งเตือนด้วยว่า วิกฤติภาวะโลกร้อน ที่ก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้น ยังจะส่งผลพ่นพิษทำให้เกิดปัญหาความไร้เสถียรภาพ หรือความไม่มั่นคงทางอาหารโลกตามมาได้ จากการที่ภาคการเกษตร ไม่สามารถปลูกพืชไร่ ทางการเกษตรได้ เพราะปัญหาภัยแล้ง ทำให้บรรดาเกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้

ทางสหประชาชาติ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งเป็นการประชุม “ยูเอ็นซีซีดี ค็อป17” ที่จะมีขึ้นในประเทศมองโกเลีย ในปี 2027 (พ.ศ. 2569) หรืออีก 2 ปีข้างหน้านั้น บรรดาตัวแทนจากชาติต่างๆ เกือบ 200 ประเทศนั้น จะบรรลุข้อตกลงกันได้ เพื่อประโยชน์แก่ประชาคมโลกเป็นประการสำคัญต่อไปในอนาคต