เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2567 ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รรท.ผบช.สอท.) , พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. , พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงความคืบหน้า ปฏิบัติการล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ลวง “ชาล็อต ออสติน” สูญเงินกว่า 4 ล้านบาท 

สืบเนื่องจาก น.ส.ชาล็อต ออสติน ผู้เสียหายมาแจ้งความว่าได้ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง โดยได้มีคนร้ายอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ-DSI) ได้โทรไปหาผู้เสียหาย อ้างว่ามีการตรวจสอบข้อมูลพบชื่อของผู้เสียหาย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน และได้มีการโอนสายให้คุยกับบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมความเสียหายกว่า 4 ล้านบาท ต่อมาผู้เสียหายรู้ตัวว่าโดนหลอก จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ 

พล.ต.ท.ไตรรงค์ จึงสั่งการให้ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ , พ.ต.ท.ธธีร์ธร เพชรสิราสิงห์ รรท.ผกก.3 บก.สอท.1 มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ ทำการสืบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน และออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการดังกล่าว

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ กก.3 บก.สอท.1 ได้สืบสวนจนทราบตัวผู้ร่วมขบวนการ และสามารถจับกุมตัว นางสาวปาริฉัตต์ อายุ 40 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 5999/2567 ลงวันที่ 12 ธ.ค.67 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจ ด้วยการขู่เข็ญ, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือ ปลอมว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยเป็นการกระทำต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด และ เปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด” โดยจับกุมตัวได้ที่ บริเวณบ้านหนองไผ่ล้อม ต.หนองบัวใหญ่ อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ

เบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้ากล่าวหา แต่ยอมรับในข้าหา “เปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝากฯ” โดยอ้างว่า เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.67 ที่ผ่านมา สามีของผู้ต้องหาได้บอกว่ามีงานพิเศษให้ทำ คือการเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับรายได้ โดยมีตอบแทนให้บัญชีละ 3,500 บาท ซึ่งผู้ต้องหาอ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่าการรับจ้างเปิดบัญชีธนาคารนั้นมีความผิดตามกฎหมาย ทั้งตนและสามีจึงตกลงรับงานและแยกย้ายกันไปเปิดบัญชี

ต่อมา ผู้ที่จ้างเปิดบัญชีได้เดินทางมาที่บ้านของตนเพื่อถ่ายรูปสมุดบัญชีธนาคารที่เปิดใหม่ และแจ้งว่าตนและสามีต้องเดินทางไปที่ประเทศกัมพูชา จำนวน 2 วัน จากนั้นช่วงค่ำได้มีรถแท็กซี่มารับตนกับสามี เมื่อขึ้นรถ พบว่า ยังมีคนอื่นที่รับจ้างเปิดบัญชีเดินทางไปกับตนด้วย โดยเดินทางจากพื้นที่ จ.นนทบุรี ด้วยรถแท็กซี่จำนวน 2 คันไปลงที่บริเวณตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ก่อนส่งลงจากรถแล้วมีรถจักรยานยนต์รับไปส่งที่จุดข้ามแดนใกล้ตลาดโรงเกลือ

จากนั้นใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 5-10 นาที ในการข้ามแดนโดยผ่านเส้นทางธรรมชาติที่มีลักษณะเป็นที่รกร้าง ต้องข้ามลำน้ำขนาดเล็ก โดยแพโฟมชักรอกข้ามลำน้ำและมีบุคคลที่นำพาข้ามแดนประมาณ 2-3คนคอยเตรียมพร้อมรับตัวคนข้ามแดนอยู่ที่ฝั่งเพื่อนบ้าน และมีรถตุ๊กๆมารับไปส่งยังตึกแถวแห่งหนึ่งฝั่งกัมพูชา

เมื่อไปถึงอาคารดังกล่าว พบว่า มีคนไทยประมาณ 15-20 คนอาศัยอยู่ด้วย รวมทั้งมีชาวจีนประมาณ 3-4 คน คาดว่าเป็นผู้ควบคุมอาศัยอยู่ด้วย มียามคอยสแกนนิ้วเปิดปิดประตูเข้าออกตลอดเวลา มีโต๊ะทำงานคอมพิวเตอร์ จากนั้นได้มีบอสชาวจีนสั่งลูกน้องให้ยึดบัตรประชาชน และสมุดบัญชีธนาคาร และโทรศัพท์มือถือ พร้อมโดนสั่งให้บอกรหัส Mobile Banking ในการทำธุรกรรมแอพฯธนาคาร จากนั้นได้ส่งมอบให้แก่บอสชาวจีน

ตลอดเวลาผู้ต้องหาและคนไทยคนอื่นๆ โดนขังอยู่ในห้องปิดม่านทึบ โดยถูกสั่งให้พักคอย ไม่ต้องทำอะไร จนกว่าถูกเรียกตัวไปสแกนหน้าผ่านแอพพลิเคชัน Mobile Banking ที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยแสกนวันละ อย่างน้อย 1 รอบ หรือมากกว่านั้น โดยในระหว่างวันจะมีข้าวกล่องมาส่งให้มื้อละกล่องต่อคน

ภายหลังได้มีคนไทยที่เป็นผู้ช่วยบอสจีน เข้ามาแจกค่าจ้างเป็นเงินสดซึ่งเป็นธนบัตรไทยแก่ผู้ที่ทำภารกิจสแกนเสร็จสิ้นแล้วโดยผู้ต้องหามีบัญชีธนาคาร 4 เล่ม ได้รับเงินจำนวน 14,000 บาท ภายหลังบัญชีดังกล่าวถูกกอายัดจึงถูกส่งตัวกลับประเทศไทยผ่านช่องทางเดิม และผู้ต้องหาได้กลับมาทำงานอาชีพแม่บ้านและใช้ชีวิตปกติ กระทั่งถูกตำรวจไซเบอร์เข้าจับกุมในที่สุด

ทั้งนี้ ตำรวจไซเบอร์อยู่ระหว่างเร่งสืบสวนขยายผลเพื่อติดตามจับกุมผู้ต้องหาในขบวนการที่ยังหลบหนีมาดำเนินคดีเพิ่มเติม และยืนยันว่าตำรวจไซเบอร์ทุกนายมีความตั้งใจในการทำคดีอย่างเต็มที่ในทุกคดี เพื่อเป็นที่พึ่งและเยียวยาความเดือดร้อนของผู้เสียหายทุกราย ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนมีชื่อเสียง บุคคลทั่วไป หรือกลุ่มเปราะบาง จึงขอให้มั่นใจในการทำงานของตำรวจไซเบอร์

 

ขอบคุณรูปภาพขากเพจ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)