ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการเก็บขยะในอัตราที่แตกต่างกัน ตามพฤติกรรมการคัดแยกขยะ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 50.31 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 23.66 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 15.73 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 10.30 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย
ด้านการรับรู้ของคนกรุงเทพมหานครต่อการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะพร้อมส่งภาพประกอบการคัดแยกขยะ เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมการเก็บขยะต่อเดือนในอัตรา 20 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 80.76 ระบุว่า ไม่ทราบเลย รองลงมา ร้อยละ 13.21 ระบุว่า พอทราบอยู่บ้าง และร้อยละ 6.03 ระบุว่า ทราบดี
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้ความร่วมมือของคนกรุงเทพมหานครในการเข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.81 ระบุว่า ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ รองลงมา ร้อยละ 28.93 ระบุว่า ค่อนข้างให้ความร่วมมือ ร้อยละ 15.65 ระบุว่า ไม่ให้ความร่วมมือเลย ร้อยละ 9.69 ระบุว่า ให้ความร่วมมือมาก และร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานครต่อการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเฉพาะรถเก๋ง เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและเพื่ออุดหนุนกองทุนซื้อคืนรถไฟฟ้า พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 49.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 18.24 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 17.10 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 13.98 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประสบความสำเร็จในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในกรุงเทพมหานครตามแนวคิดของกระทรวงคมนาคม พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 55.50 ระบุว่า ไม่ประสบความสำเร็จเลย รองลงมา ร้อยละ 28.47 ระบุว่า ไม่ค่อยประสบความสำเร็จร้อยละ 12.29 ระบุว่า ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ร้อยละ 2.44 ระบุว่า ประสบความสำเร็จมาก และร้อยละ 1.30 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร ตัวอย่าง ร้อยละ 45.73 เป็นเพศชาย และร้อยละ 54.27 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 10.92 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.25 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.47 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 25.96 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 27.40 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 94.58 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.66 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.76 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 43.82 สถานภาพโสด ร้อยละ 53.36 สมรส และร้อยละ 2.82 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่างร้อยละ 0.53 ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 9.85 จบการศึกษาประถมศึกษา ร้อยละ 28.40 จบการศึกษามัธยมศึกษา หรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.64 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 43.13 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 11.45 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ตัวอย่าง ร้อยละ 5.96 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 29.01 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 26.56 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 8.17 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 25.19 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 5.11 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 25.19 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 0.38 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 3.89 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 25.88 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 15.11 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 7.25 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.90 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001-50,000 บาท ร้อยละ 2.75 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 50,001-60,000 บาท ร้อยละ 0.53 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 60,001-70,000 บาท ร้อยละ 0.46 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 70,001-80,000 บาท ร้อยละ 2.06 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 80,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.60 ไม่ระบุรายได้