กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แถลงผลสำรวจและข้อสรุปสำคัญจากการจัด “กิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค” โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการ สื่อมวลชน ผู้นำชุมชน เยาวชน และประชาชนหลากหลายกลุ่ม พบว่า ภาพรวมปัญหา: โซเชียลมีเดียกำลังเป็นดาบสองคม ผลสำรวจพบปัญหาหลักเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียที่ส่งผลต่อสังคมไทย ดังนี้ 1) การหลอกลวงออนไลน์ (Online Scam) : การแอบอ้างเป็นองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ การหลอกให้ลงทุนออนไลน์ การหลอกให้รักเพื่อให้ส่งเงินให้ เป็นต้น 2) ข้อมูลลวงและข่าวปลอม (Fake News) : มีการแชร์ข้อมูลผิดอย่างแพร่หลาย สร้างความเข้าใจผิดในวงกว้าง 3) การระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying) : การกลั่นแกล้ง ให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางโซเชียลมีเดีย และ 4) การรับสื่อและการเข้าถึงสื่อดิจิทัลอย่างเหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยว่า โรดโชว์ครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นภาพรวมปัญหาจริงในพื้นที่ และเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้คนไทยตื่นตัวเรื่องการใช้สื่ออย่างปลอดภัย ทั้งนี้เสียงสะท้อนจากผลสำรวจนี้จะช่วยเป็นแนวทางพัฒนานโยบายของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมไทยให้ร่วมกันพัฒนาการใช้โซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์
สำหรับ ปี 2567 สถานการณ์และประเด็นปัญหาที่กองทุนควรส่งเสริมความรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชน มีผลสำรวจดังนี้ ภาคเหนือ อันดับที่ 1 คือ การหลอกลวงออนไลน์ (Online Scam) ภาคใต้ อันดับที่ 1 คือ ข้อมูลลวง (Fake News) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันดับที่ 1 คือ การหลอกลวงออนไลน์ (Online Scam) ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก อันดับที่ 1 คือ การหลอกลวงออนไลน์ (Online Scam)
ในด้านของการสร้างคุณค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft power) ที่กองทุนควรส่งเสริมให้เกิดการต่อยอด พบว่า ภาคเหนือ คือ วัฒนธรรมท้องถิ่น การท่องเที่ยว ภูมิปัญญา ภาคใต้ คือ การท่องเที่ยว ภูมิปัญญา ประเพณีท้องถิ่น อาหาร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น การท่องเที่ยว ภูมิปัญญา ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก คือ วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ภูมิปัญญา การท่องเที่ยว
ทั้งนี้ประเภทของสื่อที่เหมาะสมในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน พบว่า ภาคเหนือ อันดับที่ 1 คือ สื่อมัลติมีเดีย อาทิ อินโฟกราฟิก คลิปวิดีโอ หนังสือเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ บล็อก พอดแคสต์ เป็นต้น ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก อันดับที่ 1 คือ ละคร ภาพยนตร์ การ์ตูน แอนิเมชัน รายการสารประโยชน์ รายการสาระบันเทิง รายการสารคดี โดยรูปแบบการดำเนินงานที่เหมาะสมในการพัฒนาและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน พบว่า ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันดับที่ 1 คือ การผลิตสื่อ อาทิ ละคร ภาพยนตร์ การ์ตูน แอนิเมชัน รายการสารประโยชน์ รายการสาระบันเทิง รายการสารคดี เป็นต้น ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก อันดับที่ 1 คือ การจัดกิจกรรมให้ความรู้ เช่น การฝึกอบรม การสัมมนา การเสวนา เป็นต้น
นอกจากนี้ ข้อค้นพบจากกิจกรรม Workshop TMF MEDIA PARTNERSHIPS รวมพลังสร้างสื่อสร้างสรรค์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ประกอบด้วย ห้องที่ 1 สร้างสื่อสร้างคน ตาม ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการผลิต ให้บริการเนื้อหา และพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรม พบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความสนใจในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 1) การพัฒนาเด็กและเยาวชน ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่ การแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา การพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อ และการใช้สื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม 2) การพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่ การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสร้างสื่อเพื่อส่งเสริมการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนชุมชน การจัดทำสื่อเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การจัดทำสื่อรณรงค์ ป้องกัน และสร้างความปลอดภัยสำหรับผู้พิการ และการสนับสนุนสื่อเฉพาะกลุ่ม การพัฒนาสื่อที่เข้าถึงและเหมาะสมสำหรับกลุ่มเปราะบาง และ 3) การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ทั้งในชุมชนจริงและชุมชนออนไลน์ การพัฒนาสื่อท้องถิ่น สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา ได้แก่ การส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ การพัฒนาระบบสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการผลิตสื่อที่มีคุณภาพ การสร้างเนื้อหาและโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาสื่อสำหรับชุมชนและเยาวชน การสร้างภาคีและเครือข่ายเพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยอย่างยั่งยืน การส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์และการเรียนรู้ในชุมชนสำหรับเด็กและเยาวชน รณรงค์รู้เท่าทันสื่อ
ห้องที่ 2 รณรงค์รู้เท่าทันสื่อ ตามยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และสร้างองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้ประชาชนและสังคม และยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ และเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์แก่เด็ก และเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป พบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความสนใจในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 1) การหลอกลวงออนไลน์และข้อมูลลวง ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่ การหลอกลวงออนไลน์ เช่น การหลอกให้รัก หลอกลงทุน Call Center และการหลอกใปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ การโฆษณาเกินจริง สินค้าไม่ตรงปก โฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและสุขภาพเกินจริง การบิดเบือนข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจผิดหรือเบี่ยงเบนเนื้อหาสำคัญไปสู่ประเด็นอื่น และ 2) ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่ ปัญหาสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ สื่อที่ส่งผลกระทบทางลบ เช่น ความรุนแรง ความเชื่อและความงมงาย ข่าวที่ปลุกศรัทธาในทางที่ผิด การเปิดรับสื่อโดยขาดการรู้เท่าทัน รับข้อมูลเฉพาะด้านที่ต้องการรับรู้ รับข้อมูลที่คลุมเครือ เชื่อทันทีจากผู้มีชื่อเสียง ดารา/บุคคลมีชื่อเสียงชักจูงผ่านสื่อ ทำให้คนเชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง การเสพติดสื่อ ทำให้เกิดปัญหาด้านอารมณ์และการควบคุมตนเอง สำหรับแนวทางแก้ปัญหา คือ การให้ความรู้และสร้างทักษะด้านการรู้เท่าทันสื่อในทุกกลุ่มวัย การจัดอบรมและพัฒนาทักษะความรู้เท่าทันสื่อ การส่งเสริมการผลิตสื่อท้องถิ่นที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ และตรงประเด็น การรณรงค์ป้องกันการหลอกลวงออนไลน์ และการอบรมเกี่ยวกับการใช้สื่อดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน
ห้องที่ 3 เครือข่ายแบ่งปันแลกเปลี่ยน ตามยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการมีส่วนร่วม พัฒนาเครือข่ายเพื่อการเข้าถึง เผยแพร่ และนำไปใช้ประโยชน์เชิงสังคม ประเด็นร่วมในการพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความสนใจในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 1) ประเด็นร่วมในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่
การสร้างสื่อสำหรับกลุ่มคนเปราะบางทางสังคม เช่น การพัฒนาสื่อเพื่อสนับสนุนคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส โดยนำเสนอเนื้อหาเชิงบวก เช่น สิทธิสวัสดิการ บทเรียนความสำเร็จ และศักยภาพของกลุ่มคนเปราะบาง การสร้างนักสื่อสารที่เข้าใจเนื้อหาและบริบทของกลุ่มเป้าหมาย การคำนึงถึงจริยธรรมและจรรยาบรรณจากสื่อที่ 2) แนวทางการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่ การแก้ไขกฎหมายเพื่อสนับสนุนการทำงานของสื่อ การสร้างความรับผิดชอบในเนื้อหาที่เผยแพร่ การพัฒนาทักษะการผลิตสื่อและการใช้สื่อให้เหมาะสม และ 3) เป้าหมายของการใช้สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่ การใช้สื่อเพื่อสะท้อนปัญหาและข้อเท็จจริง การใช้สื่อเพื่อตรวจสอบและสร้างความโปร่งใส การพัฒนาสังคมและชุมชน ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และสร้างแรงบันดาลใจ การใช้สื่อเพื่อประชาสัมพันธ์การค้าขาย ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการอนุรักษ์วัฒนธรรม การลดช่องว่างทางสังคม เช่น การช่วยกลุ่มคนเปราะบางเข้าถึงบริการของรัฐและการลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาสื่อเพื่อชุมชนต้นแบบ สร้างพื้นที่สื่อที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม การสร้างสื่อที่มีจรรยาบรรณ เน้นการนำเสนออย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา และเป็นธรรม
ทั้งนี้ ข้อค้นพบที่ได้จากกิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาคนี้มีแนวทางการใช้ประโยชน์ใน 3 แนวทาง คือ การพัฒนาข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนากลไกการส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้บรรลุภารกิจของกองทุน การพัฒนาข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นประเด็นการให้ทุนสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และการนำข้อมูลที่ได้จากข้อค้นพบมาเป็นฐานในการจัดทำโครงการดำเนินการเองของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในปีต่อ ๆ ไป