‘กกต.’เผยรับคำร้องยุบพรรค 160 คำร้อง ‘เพื่อไทย’มากสุด 53 คำร้อง ตีตก 47 เหลือ 6 เร่งสอบหาพยานหลักฐาน ด้าน “รทสช.” ย้ำพรรคมีมติไม่เห็นด้วยแก้กม.กลาโหม ขณะที่ “พท.”โยนที่ประชุมส.ส.พรรคเอาด้วยหรือไม่ ยอมรับบางส่วนไม่เห็นด้วย
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.67 นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องยุบพรรคการเมือง ว่า ที่ผ่านมามีทั้งหมด 160 คำร้อง พรรคเพื่อไทยมีคำร้องมากที่สุด จำนวน 53 คำร้อง พรรคประชาชน 3 คำร้อง โดยพรรคเพื่อไทยขณะนี้ตนได้พิจารณาจนเหลือ 6 คำร้อง ในส่วนที่เหลือ 47 คำร้อง สั่งให้ยุติการสอบสวน เพราะบางรายมีอะไรก็ยื่นร้อง บางคนก็ยื่นมาถาม อีกทั้งเรื่องของการล้มล้างการปกครอง ที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องนั้น ทำให้ไม่มีผลผูกพันถึงกกต.
สำหรับคำร้องครอบงำพรรคการเมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ร้องและผู้ร้องได้แสดงพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตามคณะกรรมการสอบสวนคำร้องยุบพรรคได้ขอขยายเวลาออกไป เนื่องด้วยมีคำร้องที่เกี่ยวโยงถึง 6 พรรคการเมือง
ด้าน นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ... ว่า ในการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ได้เคยมี ส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่นเรื่องร่างกฎหมายเพื่อจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมมาในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งในขณะนั้นทางคณะรัฐมนตรีได้รับไปพิจารณามีความเห็นว่าให้ชะลอไว้ก่อน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาว่าการแก้ไขดังกล่าวเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่อย่างไร เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ มีความละเอียดอ่อน ส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วน ในการเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหรือกฎเกณฑ์ในกระทรวงกลาโหม จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และที่สำคัญกองทัพถือเป็นสถาบันหลักของชาติที่เกี่ยวกับความมั่นคง จะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ
ทั้งนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติได้เคยหยิบยกเรื่องนี้เข้ามาหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และส.ส.ของพรรค ได้มีมติในเบื้องต้นว่าไม่เห็นด้วยในการรับร่างของ พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฯ ของพรรคก้าวไกล ในสมัยนั้น ซึ่งไม่เห็นด้วยในรายละเอียดหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงกองทัพโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของสภากลาโหมที่มีอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งหลักในกองทัพและประเด็นอื่นๆ อีก ซึ่งในขณะนั้นพรรครวมไทยสร้างชาติไม่เห็นด้วยกับเสนอร่างกฎหมายของพรรคฝ่ายค้านที่เคยยื่นเข้ามา
ดังนั้น ในกรณีการยื่นร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ... ของพรรคเพื่อไทย หากมีรายละเอียดที่มีความคล้ายคลึงกับร่างกฎหมายของพรรคฝ่ายค้านที่เคยยื่นมาแล้ว โดยให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงกองทัพ พรรครวมไทยสร้างชาติขอยืนยันมติพรรคไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติเห็นด้วยกับการทำให้กองทัพมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่ต้องไม่กระทบกับความมั่นคงโดยเฉพาะการให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงกิจการของกระทรวงกลาโหม
น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงจุดยืนพรรคเพื่อไทยในการเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทยระบุการเสนอร่างดังกล่าวเป็นความเห็นส่วนตัวของ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แต่นายประยุทธ์อ้างว่าผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองกฎหมายและจะนำเข้าสู่ที่ประชุมกฎหมายของพรรค ว่า ในกระบวนการพิจารณาเสนอร่างกฎหมายใดๆ ของพรรคเพื่อไทย เรามีคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องกฎหมาย ส.ส.มีอำนาจในการเสนอกฎหมายที่ตนเองสนใจและร่างขึ้นมา โดยเป็นการพิจารณาตามหลักการและเหตุผลว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ แต่ร่างไหนจะนำเข้าสู่สภาจะต้องได้รับการรับรองจากที่ประชุมพรรค ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันที่ 12 ธ.ค. นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นว่าจะเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ แต่จะผ่านหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุมพรรค
เมื่อถามว่า ส.ส.ภายในพรรคมองเรื่องนี้อย่างไร เพราะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็ไม่เห็นด้วย น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า ตนไม่ขอก้าวร่วงกับความเห็นของพรรคภูมิใจไทย แต่สำหรับส.ส.พรรคเพื่อไทย หลายคนเพิ่งทราบว่าจะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ดังนั้นคงจะต้องมีการถกเถียงพูดคุยกัน เพื่อให้ได้มติ ซึ่งมีส.ส.ที่ทั้งเห็นต่างและเห็นด้วย เมื่อเทียบกับร่างฉบับนี้ ต่างกับร่างของ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.กลาโหม ที่เคยเสนอไว้อย่างมีนัยสำคัญในหลายประเด็น ซึ่งจะต้องมีข้อถกเถียงกันใน ส.ส.พรรค และค่อยลงมติร่วมกันว่าเห็นเป็นอย่างไร แต่ถึงอย่างไรในกระบวนการ เมื่อเสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างไร ก็จะเคารพในเสียงของพรรค
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายประยุทธ์ระบุยอมให้มีการทบทวน แต่ไม่ยอมให้มีการถอนร่างนั้น ตรงนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งพรรคเพื่อไทยหรือไม่ น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาส.ส.พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ เมื่อมติพรรคเสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างไรก็จะเคารพในมติ และคิดว่าการพูดคุยกันด้วยเหตุผลน่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง ส่วนแนวโน้มว่าจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น มีเสียงส.ส.เพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว แต่ต้องรอตรวจสอบความเห็นของคนในพรรคก่อน เนื่องจากช่วงนี้ปิดสมัยประชุมฯ สภาส.ส.ลงพื้นที่ จึงยังไม่ได้มีการพูดคุยกันอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงต้องรอความชัดเจนในวันที่ 12 ธ.ค.นี้
เมื่อถามว่า ขณะนี้รัฐบาลมีเสถียรภาพอยู่แล้ว แต่การนำร่างพ.ร.บ.นี้ขึ้นมาจะเป็นปัญหาในการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหากับการทำงานร่วมกันของรัฐบาล ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลมีจุดยืนอย่างไร เราเคารพ แต่เรื่องนี้จะต้องเป็นมติภายในพรรคเพื่อไทยว่าจะเห็นด้วยกับกฎหมายนี้หรือไม่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพรรคอื่น ฉะนั้นพรรคอื่นก็มีสิทธิ์แสดงจุดยืนได้ และมีกฎหมายหลายฉบับที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคร่วมรัฐบาลเห็นต่างกัน แต่เรายังร่วมรัฐบาลกันได้ ในมุมผลักดันเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า อย่างไรก็ตามหากเสียงส่วนใหญ่ของสส.พรรคเพื่อไทยเห็นด้วย ก็จผลักดันเข้าสู่สภา แต่ถึงอย่างไรต้องรอฟังจากที่ประชุมอีกครั้ง