นายกฯ เชิญชวนสั่งอาหารขึ้นชื่อของไทยหลัง“ต้มยำกุ้ง” ถูกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมฯ กลางดึกที่ผ่านมา มั่นใจเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ไทย สร้างความมั่นคงด้านอาหาร สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันที่ 4 ธ.ค.67 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า เมื่อคืนเวลา 02.00 น  เวลาในประเทศไทยที่ กรุงอะซุนซิออง สาธารณรัฐปารากวัย ได้มีการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนการรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 (The 19th Session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) โดยที่ประชุมได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในการประชุมฯ

โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีผ่านระบบวีดิทัศน์ ว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติในโอกาสพิเศษนี้  ในนามของรัฐบาลไทยและคนไทยทั้งประเทศ ขอขอบคุณสาธารณรัฐปารากวัยสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในครั้งนี้ รวมถึงคณะกรรมการฯ ที่ได้ขึ้นทะเบียนให้ “ต้มยำกุ้ง” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 

ทั้งนี้การขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ในการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยต้มยำกุ้งของไทย เป็นเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ มีต้นกำเนิดจากภูมิปัญญาและวิถีปฏิบัติอันประณีตของชุมชนริมน้ำในภาคกลางของไทย สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นในทุกระดับของสังคม ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว ชุมชน โรงเรียน และร้านอาหาร จนกลายมาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก  ต้มยำกุ้งจึงเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีถึงมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ไทย โดยอาหารไทยจานนี้ยังสะท้อนถึงความเข้าใจในการใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องร่วมกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งอีกด้วย ทั้งการใช้สมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การเพาะเลี้ยงกุ้งน้ำจืด การอนุรักษ์น้ำ ดิน และอากาศ การคัดเลือกและเตรียมวัตถุดิบอย่างพิถีพิถัน และท้ายสุดคือศิลปะการปรุงอาหารไทยที่ผสมผสานรสชาติ และคุณค่าทางโภชนาการอย่างลงตัว

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ความรู้และแนวปฏิบัติเหล่านี้ไม่เพียงช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหาร สุขภาพและความอยู่ดีกินดีของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และความสมานฉันท์ในสังคมอีกด้วย ประเทศไทยจึงมุ่งมั่นในการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage – ICH) ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติอย่างเต็มที่ และพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศเพื่อรักษา (safeguard) ICH ในฐานะทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนในทั้ง 3 ด้าน - เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญให้ทุกท่าน ลิ้มลองต้มยำกุ้ง ที่ร้านอาหารไทยทั่วโลก หรือค้นหาสูตรอาหารออนไลน์เพื่อทดลองทำต้มยำกุ้งเองที่บ้าน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางอันแสนอร่อยและเต็มไปด้วยรสชาตินี้ด้วยกัน

นายจิรายุกล่าวต่อไปว่า “การขึ้นทะเบียนต้มยำกุ้งในครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ในฐานะประเทศที่มากด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีและอาหารที่มีทั้งสตรีทฟู้ด อาหารนานาชนิดที่ขึ้นชื่อจนทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย หรือแม้แต่คนในต่างประเทศที่มีร้านอาหารไทยอยู่ในเมนูอันดับแรกๆ ที่มักจะสั่งก็คือต้มยำกุ้งของไทย ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เมดอินไทยแลนด์ได้เป็นอย่างดี “ นายจิรายุกล่าว