มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทยเชิญชวนเที่ยวงาน เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา“๑๐ ทศมราชา สายธารพระเมตตาสู่แผ่นดิน เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 2567”5 – 10 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์
วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้อง Pimarn Siam Hall, The Athenee Hotel มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดงานแถลงข่าวการจัดงาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา” ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 5-10 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “๑๐ ทศมราชา สายธารพระเมตตาสู่แผ่นดิน เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 2567" เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรชาวไทย ในยามที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่างๆ อาทิ ภัยหนาว วาตภัย อัคคีภัย ผ่านทางมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และในส่วนของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ประสบอุกทภัยอย่างครบวงจรและยั่งยืนกว่า 29 ปี โดยมีการจัดแสดงการถอดบทเรียนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากเหตุมหาอุทกภัยจังหวัดเชียงราย สัมผัสนิทรรศการเสมือนจริงในภารกิจของมูลนิธิฯ ตั้งแต่การเฝ้าระวังก่อนเกิดอุทกภัย การบรรเทาทุกข์ระหว่างเกิดอุทกภัย และการฟื้นฟูหลังเกิดอุทกภัย เสวนาถอดบทเรียนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกมิติ ส่งต่อความห่วงใยบริจาคสมทบร่วมจัดถุงยังชีพ ร่วมทำกิจกรรม workshop สนับสนุนพร้อมได้บุญกับผลิตภัณฑ์คุณภาพจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ร้านโครงการส่วนพระองค์ ร้านพระบรมวงศานุวงศ์ ร้านพึ่งพา - PAfé ร้านค้ารับเชิญจากหน่วยต่างๆ ประกอบด้วย ชมรมคู่สมรสตุลาการ อัยการ ร้านภริยาเหล่าทัพ ร้านภาคีเครือข่ายกว่า 40 ร้าน และความเพลิดเพลินจากกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานกรรมการอำนวยการจัด “งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา” พร้อมด้วยคุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานกรรมการดำเนินการจัดงานฯ และคุณฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล กรรมการและเลขานุการอำนวยการจัดงานฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมงานแถลงข่าว
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ได้กล่าวว่ามูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร จัดตั้งตามพระดำริของพระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประธานกรรมการมูลนิธิฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงให้ภาครัฐ เอกชน และชุมชน ร่วมกันเกื้อหนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามทุกข์ยากจากอุทกภัยและภัยพิบัติที่รุนแรง เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตอย่างครบวงจรและยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “แบ่งปัน พอเพียง ยั่งยืน” ปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างครบวงจรและยั่งยืน ตั้งแต่การเฝ้าระวัง – การบรรเทาทุกข์ - และการฟื้นฟู ในปีนี้มูลนิธิฯ ดำเนินงานเป็นปีที่ 29 และจะครบ 30 ปี ในปีหน้า โดยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในทุกๆครั้ง ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากพันธมิตรเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นแนวทางในการทำงานของมูลนิธิฯ ในการรวมสรรพกำลัง (convening power) เพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามเกิดอุทกภัย สำหรับปีนี้นอกจากการบรรเทาทุกข์ ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่มูลนิธิฯ ดำเนินการ มูลนิธิยังได้ขยายผลการทำงานในภารกิจการเฝ้าระวังก่อนเกิดอุทกภัย ในการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ จำนวน 510 สถานี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเครือข่าย 10 หน่วยงาน และยังขยายความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ เพื่อวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ติดตั้งทั้งหมด 20 สถานี และล่าสุดสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 3 สถานี และติดตั้งบนสะพานมิตรภาพแม่น้ำสายแห่งที่ 2 (ฝั่งไทย) จำนวน 1 สถานี ซึ่งจะมีพิธีส่งมอบในเดือนมกราคม ปีหน้า เพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัย ในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาย ทำให้ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านสามารถดูข้อมูลเพื่อเตรียมตัวก่อนเกิดเหตุอุทกภัยได้
การจัดงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ในปีนี้เนื่องด้วยเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จึงได้จัดงานภายใต้แนวคิด “๑๐ ทศมราชา สายธารพระเมตตาสู่แผ่นดิน เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 2567” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรชาวไทยในยามที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่างๆ อาทิ ภัยหนาว วาตภัย อัคคีภัย ผ่านทางมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับมหาอุทกภัยจังหวัดเชียงราย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงพร้อมอุปกรณ์ประกอบ สำหรับนำไปช่วยราษฎรที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ส่วนของนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติได้รับความอนุเคราะห์จากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมจัดแสดงถุงพระราชทาน สำหรับภัยพิบัติต่างๆ ทั้ง 5 แบบ ประกอบไปด้วย ถุงพระราชทานสำหรับผู้ประสบอุทกภัย, ถุงพระราชทานสำหรับผู้ประสบอัคคีภัย, ถุงพระราชทานสำหรับผู้ประสบวาตภัย, สิ่งของพระราชทานภัยหนาว และถุงพระราชทานสำหรับเด็ก ในส่วนของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ซึ่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเป็นหลัก ได้จัดแสดงนิทรรศการการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดเชียงราย และได้ร่วมจัดถุงยังชีพส่งต่อผู้ประสบอุทกภัยอีกด้วย
คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานกรรมการดำเนินการจัดงานฯ ได้กล่าวถึงรูปแบบการจัดงานในปีนี้ว่าได้นำ “การถอดบทเรียนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างครบวงจรและยั่งยืน” จากเหตุมหาอุทกภัยจังหวัดเชียงรายที่เกิดจากพายุยางิ ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ภายในงานพบกับโซนนิทรรศการพันธกิจของมูลนิธิ ประกอบด้วย โซนภารกิจเฝ้าระวัง...ก่อนเกิดภัยพิบัติ จำลองสถาณการณ์จริงการทำงานสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ โซนภารกิจบรรเทาทุกข์...ระหว่างเกิดภัยพิบัติ จัดแสดงพระเมตตาขององค์นายกกิตติมศักดิ์ และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิฯ ผ่านการประมวลภาพเหตุการณ์การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภายใต้ร่ม “น้ำพระทัยสองพระมิ่งขวัญ” เชิญชวนจัดถุงยังชีพพระราชทาน“สัญลักษณ์แห่งขวัญและกำลังใจ” ร่วมจัดถุงจริงและบริจาคสมทบส่งต่อเป็นกำลังใจเพื่อผู้ประสบอุทกภัย และรับทราบว่าถุงยังชีพที่จัดส่งถึงมือผู้ประสบภัยในพื้นที่ใดผ่าน SMS พร้อมรับพวงกุญแจ “พี่พึ่งพา” แทนคำขอบคุณ โซนภารกิจฟื้นฟู...หลังเกิดภัยพิบัติ มูลนิธิให้ความสำคัญทั้งการฟื้นฟูจิตใจ ฟื้นฟูชุมชน และฟื้นฟูอาชีพ มีการประมวลภาพฟื้นฟูหลังน้ำลดช่วยทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ จัด “กาด(ตลาด) มีชีวิต” สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนชาวเชียงรายที่ได้รับผลกระทบ อาทิ หยกแกะสลัก ข้าวซอยน้อย ข้าวฟืมทอด ฯลฯ เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ร่วมสนับสนุน
คุณฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล กรรมการและเลขานุการอำนวยการจัดงานฯ ได้กล่าวว่าภายใต้แนวคิดการ “ถอดบทเรียนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างครบวงจรและยั่งยืน” ถือเป็นการรวบรวมทั้งประสบการณ์และความประทับใจที่มูลนิธิฯ ได้เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับตลอดการปฏิบัติภารกิจของทีมเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) อาสา ปฏิบัติการภัยพิบัติ ความประทับใจแรกได้มีโอกาสฟื้นฟูจิตใจให้กับชาวแม่สายโดยอัญเชิญพระพุทธรูป “พระพุทธวิชัย เขมิโย” จากชุมชนถ้ำผาจมมาประดิษฐานในงานเพื่อให้ผู้มาเที่ยวงานได้ร่วมทำบุญปิดทอง พระพุทธรูปองค์นี้ช่วงเกิดอุทกภัยได้ถูกกระแสน้ำพัดไปทำให้เศียรหักออกจากองค์พระ มูลนิธิฯ จึงขออนุญาตนำพระพุทธรูปกลับมาบูรณะที่กรุงเทพฯ จากนี้เตรียมนำ กลับไปมอบให้ชุมชนถ้ำผาจม เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งศรัทธาและสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวแม่สาย อีกความประทับใจคือ การจำลองภาพวาดเหล่าฮีโร่ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือในเหตุการณ์มหาอุทกภัย ณ ถ้ำผาจม จังหวัดเชียงราย ด้านหน้าทางเข้าโซนนิทรรศการ เป็นภาพทีมเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) อาสา ปฏิบัติการภัยพิบัติ ขณะปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภาพจริงวาดโดยศิลปินล้านนาที่ช่วยกันบรรจงลงพู่กันวาดภาพเหล่าฮีโร่เพื่อเป็นที่ระลึกและแสดงความขอบคุณจากใจชาวแม่สาย
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบนเวที สร้างสีสันตลอดการจัดงานทั้ง 6 วัน ดังนี้
FoP Talk (Friend in Needs of “PA” Talk) การเสวนาในหัวข้อต่างๆ อาทิ โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรเกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งใน และต่างประเทศ อาทิ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.), เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(EDTA), มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ศิลปินดาราที่มีส่วนร่วมช่วยเหลือด้วยจิตอาสา อาทิ คุณเปิ้ล นาคร และคุณฝันดี-ฝันเด่น จรรยาธนากร รวมถึงทีมเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) อาสาปฏิบัติการภัยพิบัติที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จริง
กิจกรรม Workshop การทำเมนูแตงโมหน้าปลาแห้งชาววัง โดยอดีตห้องเครื่องแห่งวังเทเวศน์, การภาพวาดระบายสี นวัตกรรมกลิ่นกุหลาบ โดยกลุ่มศิลปินอิสระ 96, การปักผ้าชูใจ โดยวิสาหกิจชุมชนแม่แดดน้อย จังหวัดเชียงใหม่, การทำยำมะมุด พืชท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช และการทำตุ๊กตาหอมผ้าคราม จากชุมชนที่มูลนิธิฯ เข้าช่วยเหลืออุทกภัยที่จังหวัดสกลนคร
สินค้าร้านพึ่งพาที่มีจำหน่ายภายในงาน ได้แก่ ชุดน้ำชา "พึ่งพา × เวียงกาหลง" ของขวัญที่คู่ควรแก่การ “ให้” ในทุกโอกาส เพื่อเป็น “ความสุขของผู้ให้ ความอิ่มใจของผู้รับ” ผลิตโดยชุมชนเวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย หนึ่งในพื้นที่ประสบมหาอุทกภัยครั้งนี้ เครื่องเคลือบเวียงกาหลง ถือเป็นสินค้า GI จากอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ครั้งนี้มีการผสานนวัตกรรมในศาสตร์ของเครื่องเคลือบดินเผา จนได้ถ้วยชาและจานรองที่บางเบา มีน้ำหนักรวมกันหนักเพียง 100 กรัม และยังเพิ่มคุณค่าด้วยลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น แฝงด้วยความหมายอันเป็นมงคล และสื่อถึงมูลนิธิฯ ได้แก่ ลายไก่ฟ้า, ม้า และคลื่นน้ำ ซึ่งในชุดจะมีการ์ดเสมือนคำอวยพรด้วย, ผ้าคลุมไหล่หอมลายดอกกุหลาบสามสีจาก"พึ่งพา เพื่อแบ่งปัน คอลเลกชัน" ที่เปิดตัวใหม่โดยได้รับแรงบันดาลใจจากภาพ "สมานภักดิ์" ภาพสีน้ำมันรูปดอกกุหลาบสามสี โดย อ.สมาน คลังจัตุรัส ศิลปินที่ทั่วโลกรู้จักในนาม "Mr. Rose" ปรมาจารย์ด้านสีน้ำมัน และเป็นประธานกลุ่มศิลปินอิสระ'96 เครือข่ายศิลปินที่ร่วมนำภาพมาให้มูลนิธิฯ ใช้หารายได้เพื่อนำไปใช้ในภารกิจของมูลนิธิฯ โครงการ "พึ่งพา เพื่อแบ่งปัน" จัดขึ้นเพื่อสร้างสรรค์สังคมแห่งการแบ่งปัน ส่งเสริมให้ผู้ที่แข็งแรงกว่าช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่าสมดังวัตถุประสงค์เมื่อครั้งจัดตั้งมูลนิธิฯ และ ผลิตภัณฑ์ยั่งยืนกลุ่มผ้า จากทั่วทุกภาคของประเทศที่มูลนิธิฯ ได้เข้าไปฟื้นฟูช่วยเหลือ ต่อยอดผลิตภัณฑ์หลังเกิดอุทกภัย
ร้าน PAfé “สุขที่ได้แบ่งปัน” ในงานนำ เมนู “Royal Cuisine” ตับบทเสวย สูตรประทานจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพของมูลนิธิฯ เมนู Signature ของ PAfé มาร่วมจำหน่าย และ ไอศกรีม 3 มิติ ลวดลายอาคารมหินทรเดชานุวัฒน์ ที่ตั้งของมูลนิธิฯ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ที่จัดทำเป็นพิเศษ Limited เฉพาะในงานนี้ มี 3 รส รสชาไทย หอมเข้มข้นจากชาแดงเครื่องดื่มประจำชาติ, รสมะม่วง ผลไม้ประจำชาติรสเปรี้ยวหวานลงตัว และรสมังคุด ผลไม้ที่ได้ชื่อว่า Queen of Fruit หรือราชินีแห่งผลไม้ ภายในงานยังรวมร้านพระบรมวงศานุวงศ์ ร้านโครงการส่วนพระองค์ ร้านกิตติมศักดิ์ ร้านแม่บ้านเหล่าทัพ ร้านคู่สมรส และร้านเครือข่ายอีกกว่า 40 บูธ
กิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ กิจกรรมสาธารณกุศล การเพ้นท์ร่ม โดยศิลปินจาก จ.เชียงราย (เป็นหนึ่งในผู้ที่วาดภาพในนิทรรศการ “มหาอุทกภัยเชียงราย 2567” ณ หอศิลป์ จ.เชียงราย มาร่วมวาดร่มลายดอกรวงผึ้ง จำหน่ายในงาน รายได้ทั้งหมดสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย การจัดถุงยังชีพฯ ร่วมกับศิลปิน อาทิ คุณแอนนา เสืองามเอี่ยม, คุณเอส กันตพงศ์, คุณนุ้ย เกศริน, ครอบครัวหงส์มานพ, คุณเบลล์ และคุณหว่าหวา ไชน่าดอลล์ ส่วน กิจกรรมบันเทิงเวทีใหญ่ พบกับศิลปิน และนักร้องให้ความบันเทิงทุกวัน อาทิ คุณอุ้ย รวิวรรณ จินดา, คุณปราโมทย์ วิเลปะนะ, คุณหญิง ธิติกานต์ โดยรายได้จากการจัดงานฯ นำสมทบทุนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
ทั้งนี้รายละเอียดกิจกรรมในแต่ละวัน ทุกท่านสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ Facebook มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
“งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา” วันที่ 5-10 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 - 20.00 น. ณ EM GLASS, EM YARD ชั้น G ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ กรุงเทพมหานคร