สสว. ติดตามการพัฒนาผู้ประกอบการ ในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง หวังยกระดับธุรกิจชุมชน รองรับการขยายการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการ ภายใต้ กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2567 โดยมีการพัฒนาในเชิงลึก ร่วมให้คำแนะนำปรับปรุงกระบวนการผลิต/บริการ การบริหารจัดการ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของชุมชน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ให้น่าสนใจ เพื่อยกระดับด้วยการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนงานวิจัยต่างๆ ที่เข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูงได้ หวังช่วยยกระดับธุรกิจ รองรับการการขยายการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน และระดับประเทศต่อไป
โดยกิจกรรมดังกล่าว ได้ดำเนินการต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้เกิดการลงทุน ขยายกิจการหรือสามารถก่อตั้งธุรกิจในผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการที่มีความพร้อม เมื่อเร็วๆ นี้ คณะ สสว. ได้ติดตามความคืบหน้า ของการพัฒนาธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และการบริการในเชิงท่องเที่ยว ณ สถานประกอบการ ที่มีการใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มมูลค่าและโอกาสการเข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูงได้ ดังนี้
จังหวัดชลบุรี ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยมุ่งเน้นที่อาหารที่มีโภชนาการสูง ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มผลผลิตการเกษตร ลดเวลาการดำเนินงานในระบบควบคุมวาล์วจ่ายน้ำ-จ่ายปุ๋ยอัตโนมัติ
จังหวัดระยอง ได้พัฒนา Application สำหรับจัดการการดำเนินงานในองค์กร-การวางแผนและติดตาม การผลิต การซ่อมบำรุง วัตถุดิบ คลังสินค้าการขาย การขนส่ง เป็นต้น และ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ของที่เหลือจากกวัสดุเหลือใช้
จังหวัดจันทบุรี ให้คำแนะนำและอบรมการสร้างเรื่องราวและการนำเสนอ (Storytelling) เพื่อยกระดับอัตลักษณ์ชุมชนท่องเที่ยว Blue zone การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาหารสมุนไพร แพทย์แผนไทย สปา เป็นต้น
และจังหวัดฉะเชิงเทรา พัฒนาการจัดการในองค์กร และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในตรวจสอบและติดตามความชื้นในดินและ ธาตุอาหารพืชในดิน สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นเกษตรกร
ซึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณภาพถือเป็นสัดส่วนที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจมากที่สุด และได้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่หลากหลาย ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ นวัตกรรมการปรับปรุงกระบวนการผลิต การยืดอายุผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหาร ลำดับต่อมาคือ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ และการเพิ่มผลผลิต อาทิ เทคโนโลยี AR Application สำหรับการบริหารจัดการในองค์กร และ IoT สำหรับการเกษตร เป็นต้น
เป็นอีกหนึ่งกิจกรรรม อันสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ ที่ยังคงเดินหน้าส่งเสริม พัฒนาสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อยกระดับธุรกิจชุมชน รองรับขยายการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อไป