วันที่ 20 พ.ย.67 บริเวณลาน Zpotlight ชั้น G ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยพลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และ นายชาญยุทธ เศวตสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกรุงเทพมหานคร ร่วมกันแถลงข่าว “โครงการจัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณี จังหวัดปทุมธานี ประจำปี 2567” ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ระหว่างวันที่ 3 - 5 ธันวาคม 2567 ณ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสวนเทพปทุม ตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยมีนายดงพล รุจิธรรมธัช ปลัดจังหวัดปทุมธานี นายอมรเทพ เพชรกำแพงแสน ที่ปรึกษาด้านการตลาด ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คนายอำเภอทั้ง 7 อำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน เข้าร่วมงานฯ
นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า นับเป็นงานประเพณีสำคัญของจังหวัดปทุมธานีที่จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 รัฐบาลมีนโยบายเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวในการฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงภาคการท่องเที่ยวในแต่ละท้องถิ่นให้เป็นรากฐานสำคัญ การจัดแข่งขันเรือยาวประเพณีก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลและที่สำคัญจังหวัดปทุมธานีเองก็ถือว่าเป็นเมืองที่เป็นพื้นราบลุ่มมีแม่น้ำเจ้าพระยาเส้นเลือดใหญ่ของคนภาคกลางไหลผ่านกลางเมืองระหว่างอำเภอเมือง และอำเภอสามโคกซึ่งถือเป็นพื้นที่รับน้ำตลอดมา ในสมัยก่อนนั้น แม่น้ำลำคลองถือว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสัญจร การประกอบอาชีพกสิกรรมต่างๆ นอกจากนั้นยังใช้เป็นการสร้างความบันเทิงสนุนกสนานในยามว่างเว้นจากการประกอบอาชีพ ดังนั้นจึงเป็นจุดก่อเกิดวัฒนธรรรม ประเพณีทางสายน้ำ อาทิ การเล่นเพลงเรือเกี้ยวพาราสีกันของชาวบ้านริมน้ำ และการแข่งเรือชนิดต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งต่อมาก็มีการจัดแข่งขันที่เป็นรูปแบบและเป็นทางการมากขึ้นจนในปัจจุบันมีการจัดแข่งเรือยาวประเพณี และในปีนี้ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานถ้วยรางวัลสำหรับเรือที่ชนะการแข่งขันอีกด้วย การจัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณี ชิงถ้วยพระราชทานฯ ในครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า นอกจากส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ และยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี การแข่งเรือพื้นบ้าน(เรือพายม้า) ของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำลำคลองที่สืบทอดกันมายาวนานบนพื้นฐานความสามัคคี พร้อมเพรียง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชน ขณะเดียวกันเป็นการรณรงค์ให้พี่น้องชาวจังหวัดปทุมธานี และประชาชนชาวไทยทุกคนได้ร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี ที่ดีงามของไทยสืบไป
พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า อบจ.ปทุมธานี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณี ในครั้งนี้ เป็นการจัดต่อเนื่องปีที่ 3 และตลอด 3 ปีก็ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งราชการและเอกชนเป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ก็ถือได้เป็นการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด 6 ด้าน เช่นด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ส่งเสริม และพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเชิงอนุรักษ์ รักษาประเพณี วัฒนธรรมพื้นบ้าน และพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มุ่งส่งเสริมด้านกีฬาต่างๆ เพื่อนำไปสู่จุดหมายใหม่แห่งการท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี
สำหรับการจัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณีในปีนี้กำหนดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 ธันวาคม เฉกเช่นทุกปี บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าสวนเทพปทุม มีทั้งหมด 4 ประเภท คือ เรือ 30 ฝีพาย เรือ 40 ฝีพาย เรือ 50 ฝีพาย และเรือพายม้า ซึ่งเรือพายม้านั้นเป็นเรือพื้นบ้านที่หายากแล้วในปัจจุบัน แต่ต้องการจะอนุรักษ์ไว้ โดยให้เป็นเรือในชมรมเรือพายม้าพื้นบ้านและคัดเลือกฝีพายในท้องถิ่นลงแข่งขัน ในวันที่ 4 ธ.ค. เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป และชิงชนะเลิศวันที่ 5 ธ.ค. ซึ่งรอบชิงชนะเลิศการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ ททบ. 5 เอชดี เวลา 15.00-17.00 น. เรือที่ชนะการแข่งขันในประเภท 30, 40 และ 55 ฝีพาย จะได้รับถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ส่วนเรือที่ชนะเลิศ เรือพายม้า 10 ฝีพาย จะได้รับถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นอกจากนั้นยังมีเงินรางวัลให้กับเรือที่ชนะอันดับต่างๆ ทุกประเภทเป็นเงินรวม 2,451,000.บาท
สำหรับเรือที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้คัดกรองเอาเรือดีเรือดังมีชื่อเสียง ทั่วประเทศ อดีตดีกรีแชมป์ถ้วยพระราชทานหลายลำ ประเภท 55 ฝีพาย มี 8 ลำ เช่น เรือเจ้าแม่ประดู่ทอง จากชลบุรี เรือเจ้าแม่เพชรดารา, เรือฉัตรชัย จากนครสวรรค์ เรือศรีสตึก จากบุรีรัมย์ เรือเพชรดำ-หัสดินนาวา จากกาฬสินธุ์ เรือรุ่งสุริยา จากหนองคาย เรือเทพขุนอินทร์ จากสิงห์บุรี เรือประเภท 40 ฝีพาย มี 9 ลำ เช่น เรือเจ้าแม่ประดู่เงิน จากชลบุรี เรือสาวบัวแก้วกาบคำ จากอุบลราชธานี เรือแม่เหลืองทอง จากสระบุรี เรือไพรวัลย์ จากพระนครศรีอยุธยา เรืออะพินยาวังเวียง จาก สปป.ลาว เรือสิงห์ปทุม เรือสิงห์รังสิต ปทุมธานี เรือประเภท 30 ฝีพาย มี 12 ลำ เช่น เรือเทพธิดาไข่มุก จากเชียงราย เรือเรืองแสง จากสุโขทัย เรือสาวสวยพัฒนียา จากพิจิตร เรือเพชรดารา จากนครสวรรค์ เรือว.วังหิน จากนครราชสีมา เรือหนุ่มโพธิ์หัก จากราชบุรี เรือสาวคลองจินดา จากนครปฐม เป็นต้น
ขณะเดียวกันระหว่างวันที่ 3-5 ธันวาคม 2567 บริเวณลานจอดรถสวนเทพปทุม จะมีงานมหกรรม “ตลาดนัดบัวหลวง” ครั้งที่ 3 ออกร้านสินค้า OTOP สินค้าในชุมชนกว่า 140 ร้านค้า และความสนุกสนาน ตลอดระยะเวลาการจัดงาน เพื่อเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการเพิ่มมูลค่าและพัฒนาตลาดเชิงรุกด้านการท่องเที่ยวในจังหวัด ให้พี่น้องประชาชนที่มาเที่ยวชมการแข่งขัน ได้มาจับจ่ายใช้สอย ชมฟรีกับมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินดัง วันที่ 3 ธันวาคม พบกับ แซ็ค ชุมแพ, วันที่ 4 ธันวาคม พบกับ เอ มหาหิงค์, วันที่ 5 ธันวาคม พบกับ พี สะเดิด และห้ามพลาดชมการแสดงพลุดนตรีกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ 16.30 น. เป็นต้นไป
ด้านนายชาญยุทธ เศวตสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลมีนโยบายเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยว นำร่องในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็เร่งสนองนโยบายดังกล่าว มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศให้เป็นที่สนใจแก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น และในจังหวัดปทุมธานี ก็เช่นกันมีสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ มากมาย ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้และไม่ไกลจากเมืองหลวง ส่วนการจัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีประจำปีก็ถือเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งที่สำคัญล้วนเป็นประโยชน์อย่างมากต่อท้องถิ่นชุมชนและโดยรวมของประเทศ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีความยินดี และพร้อมสนับสนุน อีกทั้งได้ขอพื้นที่กับ อบจ.ปทุมธานี จัดแสดงนิทรรศการแหล่งท่องเที่ยวมาดูแข่งเรือแล้วก็สามารถไปท่องเที่ยวต่อได้ ตามเส้นทางที่เราใช้ชื่อว่า “ไหว้พระริมน้ำให้ฉ่ำบุญที่ปทุมธานี”