“ปชน.” ยื่นร่างแก้ รธน. ต่อรัฐสภาแล้ว 17 ฉบับ เขี่ย “สว.” พ้นทางแก้ รธน. จับตา "ปธ.รัฐสภา" นัดถกวิป 3 ฝ่าย เคาะวันพิจารณา "อนุทิน" ย้ำ "เพื่อไทย-ภูมิใจไทย" ไม่มีขัดแย้งปม "เขากระโดง" ประกาศรัฐบาลอยู่ครบเทอม เมินคนจ้องล้ม
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 14 พ.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานความความเคลื่อนไหวต่อการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่าเตรียมนัดประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย คือ วุฒิสภา สส.รัฐบาล และ สส.ฝ่ายค้าน ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. ก่อนที่จะเปิดสมัยประชุมสภาฯ ซึ่งมีวาระพิจารณากำหนดกรอบการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผู้เสนอต่อรัฐสภา
ทั้งนี้ ในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อรัฐสภา นั้น ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้เผยแพร่รายละเอียดต่อการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ในสภาฯ ชุดที่ 26 มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา เข้ามาแล้ว รวม17 ฉบับ ซึ่งเป็นของ ฉบับที่ สส.พรรคประชาชน เข้าชื่อเสนอทั้งหมด ได้แก่ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยสาระสำคัญ คือ ตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียง สว.ร่วมโหวตเป็นจำนวนตามเกณฑ์กำหนด โดยเปลี่ยนใช้เสียง สส. เห็นชอบทั้งหมด และมีเงื่อนไข คือ ต้องได้เสียง สส.เห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ของสภา
2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตัดประเด็นเงื่อนไขกรณีต้องไม่มีสมาชิกพรรคที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ หรือ รองประธานสภาฯ ออกไป เพื่อให้ผู้นำฝ่ายค้านฐานะพรรคการเมืองหลักในฝ่ายค้านสามารถมีตำแหน่งรองประธานสภาฯ หรือ รองประธานสภาฯ ได้
3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของ คณะกรรมาธิการ โดยเพิ่มอำนาจให้ สอบสวนข้อเท็จจริงได้ จากเดิมที่กำหนดหน้าที่เพียง สอบหาข้อเท็จจริง 4.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 199 ว่าด้วยขอบเขตอำนาจศาลทหาร ที่กำหนดกรอบอำนาจให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของผู้กระทำความผิดเป็นบุคคล เฉพาะในระหว่างการประกาศสงคราม
5.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 ว่าด้วยหน้าที่ของบุคคล ซึ่งแก้ไข (5) ที่กำหนดให้มีหน้าทที่รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็น รับราชการทหารเมื่อมีภัยสงครามหรือเหตุที่ประเทศเผชิญสงครามในระยะเวลาอันใกล้ตามที่กฎหมายกำหนด 6.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ซึ่งตัดข้อห้ามการใช้สิทธิและเสรีภาพ ประเด็นที่จะกระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐออกไป 7.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ว่าด้วยการขยายการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ที่ไม่ให้กฎหมายใดจำกัดการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการติชม ด้วยความเป็นธรรม อีกทั้งยังกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพทางวิชาการ และกำหนดบทคุ้มครองการศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย การเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการที่ไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
8.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ว่าด้วยสิทธิการขอประกันตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา ที่แก้ไขให้การคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างรวดเร็ว และเหตุที่ไม่ปล่อยตัวชั่วคราว กำหนดบทบัญญัติเป็นกรณีเฉพาะว่า เพราะมีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่าหากปล่อยตัวชั่วคราวจะทำให้เกิดกรณีหลบหนี หรือ เหตุอื่น
นอกจากนั้นได้เพิ่มข้อความในวรรคท้ายขึ้นใหม่ โดยกำหนดระยะเวลาคุมขังของผู้จำเลย ห้ามเกิน 1 ปี ทั้งในศาลชั้นต้น หรือ ชั้นของศาลอุทธรณ์ กรณีไม่ถูกพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
9.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ว่าด้วยการเสมอภาคทางเพศ ซึ่งได้แก้ไขในวรรคสองให้ บุคคลทุกคน ไม่ว่าเพศ เพศสภาพ เพศวิถี หรือ อัตลักษณ์ทางเพศใดมีสิทธิเท่าเทียมกัน 10.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยสิทธิของประชาชนและชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้เพิ่มเติมให้สิทธิของบุคคลดำรงชีพอยู่อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ยั่งยยืนและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน
นอกจากนั้นแล้วยังได้เพิ่มบทว่าด้วยหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ ต่อเรื่องในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ยั่งยืนและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัยหรือคุณภาพชีวิตและยังกำหนดเงื่อนไขของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ให้องค์กรอิสระ ประกอบด้วย เอกชน สถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ
11. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยการศึกษา ซึ่งกำหนดให้บุคคลได้รับการศึกษาที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 ปี ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
12.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยสิทธิในการรับทราบข้อมูล ข่าวสารสาธารณะ ซึ่งเพิ่มบทบัญญัติที่ว่าด้วย การได้รับคุ้มครองจากรรัฐในกรณีเปิดเผยหรือแจ้งเบาะแสการทุจริตภาครัฐ พร้อมทั้งกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารของรัฐ ยกเว้นความลับทางราชการ ในรูปแบบที่ง่ายต่อการใช้งาน
13.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 ว่าด้วยการยื่นตรวจสอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ให้อำนาจ สมาชิกรัฐสภาดำเนินการผ่านประธานรัฐสภา ซึ่งได้กำหนดให้ ประธานรัฐสภาหลังได้รับเรื่องต้องส่งให้ประธานศาลฎีกาทันที โดยตัดเงื่อนไขที่ ประธานรัฐสภาต้องใช้ดุลยพินิจว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ออก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ พรรคประชาชน โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภามาแล้ว 4 ฉบับ คือ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ คือ รัฐมนตรี สส. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัดคุณสมบัติที่ว่าด้วยต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงออก และเชื่อมโยงไปยังกระบวนการตรวจสอบ ของ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทำผิดจริยธรรมร้ายแรงด้วย
2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร เมื่อ 22 พ.ค.2557 และการป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร 3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติและยกเลิกแผนการปฏิรูปประเทศตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และ 4.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิกมาตรา 279 และเพิ่มสิทธิให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากคำสั่ง การกระทำของ คสช. หรือ หัวหน้า คสช. มีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายได้
ทั้งนี้ตามเงื่อนไขของการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ประธานรัฐสภาต้องพิจารณาความถูกต้องของรายละเอียดการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ และบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระภายใน 15 วัน ส่วนจะพิจารณาในช่วงเวลาใดของสมัยประชุมนั้นตามการปฏิบัติปกติจะขึ้นอยู่กับการหารือของวิป3 ฝ่าย
ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 14 พ.ย.67 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มลงพื้นที่ ว่า ตนคิดว่าคนไทยทุกคน ถ้าคิดจะทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมือง ทำแล้วประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนช่วยกันทำประเทศไทยจะดีขึ้น
เมื่อถามว่าจะสะท้อนภาพรัฐบาลแน่นปี้ก เพราะนายทักษิณ ระบุ ตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลก็สามัคคีกันดีอยู่ นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ภาพรวมเป้าหมายต้องเหมือนกัน ซึ่งการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเป้าหมายหลักคือประชาชนและประเทศชาติ ตรงนี้เหมือนกันแน่นอน ส่วนการดำเนินการ ก็เป็นไปตามภารกิจของแต่ละกระทรวง ซึ่งร่วมกันขับเคลื่อนอย่างดี อย่าง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม จะเดินทางไปต่างประเทศและในสัปดาห์หน้าจะมีเรื่องสำคัญเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โทรศัพท์ มาบอกตน รบกวนฝากให้พิจารณา และผ่านความเห็นชอบ ในฐานะที่เป็นรักษาการแทนนายสุริยะ พอตนอ่านดูแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ ตนก็เซ็นให้ ไม่เคยคิดอะไรที่เป็นเรื่องการเมือง ตรงนี้ทำไปแล้วพรรคตนจะเสียคะแนน พรรคท่านจะได้คะแนน ตนไม่เคยคิด เป็นรัฐบาลก็คือรัฐบาล หากทำดีอานิสงส์ก็ปกแผ่ไปหมด
เมื่อถามว่าการที่ นายทักษิณ ออกมาระบุเช่นนี้ เป็นการสยบข่าว ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย กรณีเขากระโดงหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่เคยมีความขัดแย้ง มันไม่เคยมีความขัดแย้ง ตนถึงได้พูดว่าเปลี่ยนชื่อเป็นบ่างกันหรือยัง เพราะเรื่องความขัดแย้ง เป็นการคาดคะเนของคนที่ไม่อยู่ในวง มันมีตรงไหนที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้ง หากบอกว่า มีประเด็นความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยในช่วงสองสัปดาห์อาทิตย์ที่แล้วตนยังได้มีโอกาสตามนายกฯ ไปประชุมที่คุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ท่านให้เกียรติตนตลอดเวลาแล้วจะมีความขัดแย้งตรงไหน
"ผมไม่เข้าใจ ที่มีคนกล่าวว่า เพื่อไทยเอาคืนภูมิใจไทย เรื่องเขากระโดง ผมขอถามว่า พรรคเพื่อไทยจะเอาคืนพรรคภูมิใจไทยเรื่องอะไร เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยเรื่องของกระโดงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายปฏิบัติตามคำสั่งศาล ปฏิบัติตามกฏหมาย และระเบียบของกรมที่ดิน และไม่ต้องกังวลเรื่องตัวของผมเองเลย แม้แต่ตารางมิลเดียวอย่าว่าแต่ตารางวาเลย ที่เขากระโดงไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีเหตุอะไร ที่ผมต้องไปปกป้องผลประโยชน์ของใคร อยู่กระทรวงมหาดไทย กว่าจะมาได้แทบตาย เสร็จแล้วจะไปปกป้องผลประโยชน์ให้คนมาด่า สาดเสียเทเสีย ต่อให้พ้นตำแหน่งไปก็ยังโดนตราบาปไปตลอดชีวิต จดเอาไว้เลยว่า ไม่มีกับคนชื่ออนุทิน ผมไปไหนต้องทำให้คนจำ ถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ที่ได้ทำเอาไว้" นายอนุทิน กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แนะนำให้กรมที่ดิน และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พูดคุยกันเพื่อเจรจาหาข้อยุติในเรื่องนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า มีการพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา และตั้งคณะกรรมการร่วมกัน ส่วนที่บอกว่าคณะกรรมการตามมาตรา 61 ไม่มี การรถไฟฯ เพราะต่างคนต่างเป็นคู่กรณี แต่เขามีกรรมการแยกต่างหากแล้วค่อยไปตั้งกรรมการร่วมกัน ฉะนั้นขออย่านำเรื่องนี้มาโยงกับรมว.มหาดไทย เพราะเรื่องพวกนี้จบในกรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายและสั่งการกรมที่ดินให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบทุกอย่างไม่มีการเอื้อหรืออำนวยความสะดวกให้กับใคร ส่วนจะจบอย่างไรก็ให้เป็นไปตามนั้นไม่ต้องมารายงานรัฐมนตรีเพราะหากไม่เป็นไปตามกฎหมายก็ต้องมีคนร้องคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือหากการรถไฟ ยังไม่พอใจก็ไปฟ้องศาลต่อซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า หลายเรื่องที่มีการนำเสนอข่าวออกไปผิดหมดเลย ยกตัวอย่าง กรณีการลาออกของอดีตอธิบดีกรมที่ดิน ที่มีการอ้างว่าถูกแรงกดดัน จึงลาออกเพราะไม่อยากเข้าคุก ซึ่งไม่เป็นเรื่องจริง เนื่องจากต้องการไปดูแลภรรยาที่ป่วย และเมื่อเขามีความจำเป็นก็ต้องเคารพการตัดสินใจ เพราะมองว่าการเสนอข่าวต้องมีความแม่นยำข้อมูลให้มากกว่านี้ และแหล่งข่าวไม่ต้องไปหาที่ไหน เพราะตนให้สัมภาษณ์รายวันอยู่แล้ว เจอผู้สื่อข่าวก็วิ่งเข้าหาทุกที ไม่เคยให้ต้องมาตาม เราต้องมาคุยกันแบบนี้ อย่าไปฟังตรงโน้นทีตรงนี้ที และเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในการบริหารราชการแผ่นดิน คุณไม่ได้เดือดร้อน ตนไม่ได้เดือดร้อน แต่คนเดือดร้อนคือประชาชน
เมื่อถามถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี จะเป็นการไปหาข้อมูลเพื่อเตรียมล้มรัฐบาลหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลหากดูสถิติจะล้มกันเองในรัฐบาล ไม่เคยล้มจากข้างนอก เพราะฉะนั้นคนในรัฐบาลต้องทำลายสถิติ ต้องรักต้องสามัคคีทำงานเพื่อชาติและประชาชน มันก็จะไม่มีอะไรล้มได้
เมื่อถามย้ำว่ารัฐบาลจะอยู่ครบวาระใช่หรือไม่นายอนุทิน กล่าวว่า ก็เป็นเป้าหมายเราอยากจะทำ