วันที่ 14 พ.ย.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ถึงความเคลื่อนไหวต่อการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่าเตรียมนัดประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย คือ วุฒิสภา สส.รัฐบาล และ สส.ฝ่ายค้าน ในช่วงต้นเดือนธ.ค. ก่อนที่จะเปิดสมัยประชุมสภาฯ ซึ่งมีวาระพิจารณากำหนดกรอบการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผู้เสนอต่อรัฐสภา

ทั้งนี้ในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อรัฐสภา นั้น ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้เผยแพร่รายละเอียดต่อการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ในสภาฯ ชุดที่ 26 มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา เข้ามาแล้ว รวม17 ฉบับ ซึ่งเป็นของ ฉบับที่สส.พรรคประชาชน เข้าชื่อเสนอทั้งหมด 

ได้แก่ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ  มาตรา 256 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  โดยสาระสำคัญ คือ ตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียง สว.​ร่วมโหวตเป็นจำนวนตามเกณฑ์กำหนด โดยเปลี่ยนใช้เสียง สส. เห็นชอบทั้งหมด และมีเงื่อนไข คือ ต้องได้เสียง สส.เห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ของสภา

2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตัดประเด็นเงื่อนไขกรณีต้องไม่มีสมาชิกพรรคที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ หรือ รองประธานสภาฯ ออกไป  เพื่อให้ผู้นำฝ่ายค้านฐานะพรรคการเมืองหลักในฝ่ายค้านสามารถมีตำแหน่งรองประธานสภาฯ หรือ รองประธานสภาฯ ได้

3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของ คณะกรรมาธิการ โดยเพิ่มอำนาจให้ สอบสวนข้อเท็จจริงได้ จากเดิมที่กำหนดหน้าที่เพียง สอบหาข้อเท็จจริง

4.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 199 ว่าด้วยขอบเขตอำนาจศาลทหาร ที่กำหนดกรอบอำนาจให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของผู้กระทำความผิดเป็นบุคคล เฉพาะในระหว่างการประกาศสงคราม

5.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ  มาตรา 50 ว่าด้วยหน้าที่ของบุคคล ซึ่งแก้ไข (5) ที่กำหนดให้มีหน้าทที่รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็น รับราชการทหารเมื่อมีภัยสงครามหรือเหตุที่ประเทศเผชิญสงครามในระยะเวลาอันใกล้ตามที่กฎหมายกำหนด 

6.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ซึ่งตัดข้อห้ามการใช้สิทธิและเสรีภาพ ประเด็นที่จะกระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐออกไป 

7.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ว่าด้วยการขยายการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ที่ไม่ให้กฎหมายใดจำกัดการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการติชม ด้วยความเป็นธรรม อีกทั้งยังกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพทางวิชาการ และกำหนดบทคุ้มครองการศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย การเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการที่ไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 

8.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ว่าด้วยสิทธิการขอประกันตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา ที่แก้ไขให้การคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างรวดเร็ว และเหตุที่ไม่ปล่อยตัวชั่วคราว กำหนดบทบัญญัติเป็นกรณีเฉพาะว่า เพราะมีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่าหากปล่อยตัวชั่วคราวจะทำให้เกิดกรณีหลบหนี หรือ เหตุอื่น

นอกจากนั้นได้เพิ่มข้อความในวรรคท้ายขึ้นใหม่ โดยกำหนดระยะเวลาคุมขังของผู้จำเลย ห้ามเกิน 1 ปี ทั้งในศาลชั้นต้น หรือ ชั้นของศาลอุทธรณ์ กรณีไม่ถูกพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป 

9.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ว่าด้วยการเสมอภาคทางเพศ  ซึ่งได้แก้ไขในวรรคสองให้ บุคคลทุกคน ไม่ว่าเพศ เพศสภาพ เพศวิถี หรือ อัตลักษณ์ทางเพศใดมีสิทธิเท่าเทียมกัน

10.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยสิทธิของประชาชนและชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้เพิ่มเติมให้สิทธิของบุคคลดำรงชีพอยู่อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ยั่งยยืนและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน

นอกจากนั้นแล้วยังได้เพิ่มบทว่าด้วยหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ ต่อเรื่องในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ยั่งยืนและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัยหรือคุณภาพชีวิตและยังกำหนดเงื่อนไขของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ให้องค์กรอิสระ ประกอบด้วย เอกชน สถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ

11. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยการศึกษา ซึ่งกำหนดให้บุคคลได้รับการศึกษาที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 ปี ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

12.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยสิทธิในการรับทราบข้อมูล ข่าวสารสาธารณะ ซึ่งเพิ่มบทบัญญัติที่ว่าด้วย การได้รับคุ้มครองจากรรัฐในกรณีเปิดเผยหรือแจ้งเบาะแสการทุจริตภาครัฐ พร้อมทั้งกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารของรัฐ ยกเว้นความลับทางราชการ ในรูปแบบที่ง่ายต่อการใช้งาน

13.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 ว่าด้วยการยื่นตรวจสอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ให้อำนาจ สมาชิกรัฐสภาดำเนินการผ่านประธานรัฐสภา ซึ่งได้กำหนดให้ ประธานรัฐสภาหลังได้รับเรื่องต้องส่งให้ประธานศาลฎีกาทันที โดยตัดเงื่อนไขที่ ประธานรัฐสภาต้องใช้ดุลยพินิจว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ออก 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ พรรคประชาชน โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภามาแล้ว 4 ฉบับ คือ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ  คือ รัฐมนตรี  สส.  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัดคุณสมบัติที่ว่าด้วยต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงออก และเชื่อมโยงไปยังกระบวนการตรวจสอบ ของ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทำผิดจริยธรรมร้ายแรงด้วย

2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร เมื่อ 22 พ.ค.2557 และการป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร 3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติและยกเลิกแผนการปฏิรูปประเทศตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และ 4.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิกมาตรา 279 และเพิ่มสิทธิให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากคำสั่ง การกระทำของ คสช. หรือ หัวหน้า คสช. มีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายได้

ทั้งนี้ตามเงื่อนไขของการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ประธานรัฐสภาต้องพิจารณาความถูกต้องของรายละเอียดการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ และบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระภายใน 15 วัน ส่วนจะพิจารณาในช่วงเวลาใดของสมัยประชุมนั้นตามการปฏิบัติปกติจะขึ้นอยู่กับการหารือของวิป3 ฝ่าย.