“รมว.สธ.” อย่ากังวล “โรคไอกรน” หลังระบาด ในรร.สาธิต มศว. ปทุมวัน จนต้องปิด 2 สัปดาห์ ชี้เด็กไทยส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนครบ ช่วยลดอาการรุนแรง สั่งเร่งคัดกรองผู้สัมผัสใกล้ชิดให้ยาป้องกันในกลุ่มเสี่ยง แนะกลุ่มเปราะบางฉีดเข็มกระตุ้น ยันไม่ประมาทเฝ้าระวังจนถึงสิ้นปี

วันที่ 13 พ.ย.2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ประกาศหยุดการเรียนการสอน 2 สัปดาห์ จากโรคไอกรนระบาดว่า ตนได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าระยะแรก พบผู้ป่วยเป็นเด็กมัธยม 5 ราย ในช่วงวันที่ 16 ก.ย. – 25 ต.ค. โดยทุกรายฉีดวัคซีนครบ สงสัยการระบาดเริ่มจากทีมบาสเก็ตบอลของโรงเรียน หลังจากการสอบสวนโรคเพิ่ม 4-8 พ.ย.พบอีก 20 ราย ซึ่งสำนักอนามัย กทม. และกรมควบคุมโรค ส่งทีมสอบสวนโรค หาปัจจัยเสี่ยง คัดกรองผู้ป่วย ผู้สัมผัสใกล้ชิด ติดตามผู้ป่วยให้ยาป้องกันในกลุ่มเสี่ยง ประเมินสถานการณ์การระบาดร่วมกัน ประสานสถานศึกษาเพื่อคัดกรองและเฝ้าระวังผู้ป่วย พร้อมทั้งทำความสะอาดโรงเรียนตามมาตรฐานสุขอนามัยทั่วไป แต่ไม่จำเป็นต้องพ่นฆ่าเชื้อ เนื่องจากโรคไอกรนแพร่กระจายผ่านละอองฝอยจากการไอจามเป็นหลัก แต่ต้องจัดระบบระบายอากาศในห้องเรียนให้เหมาะสม พร้อมกันนี้ ควรตรวจสอบประวัติการรับวัคซีนของนักเรียนและบุคลากร ประชุมวางแผนมาตรการกับทางโรงเรียน สื่อสารความเสี่ยง ปรับรูปแบบการเรียน ประสานหน่วยงานกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ และติดตามข้อมูลสถานการณ์ของผู้สัมผัสใกล้ชิดในเหตุการณ์นี้  จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.67

“ผู้ปกครองไม่ต้องกังวลมากเกินไป เนื่องจากเด็กไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้รับวัคซีนครบถ้วน โอกาสเกิดโรครุนแรงจึงมีน้อยมาก อย่างไรก็ตาม โรงเรียนยังคงต้องเฝ้าระวังและคัดกรองนักเรียนที่มีอาการไออย่างต่อเนื่อง เพราะระยะฟักตัวของโรคอาจนานถึง 21 วัน ช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่ผู้ปกครองจะทบทวนประวัติวัคซีนของบุตรหลาน โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนกระตุ้นในเด็กวัยประถมปลาย ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรครุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนะนำว่าในทุกครั้งที่มีการเจ็บป่วยให้นำสมุดบันทึกการฉีดวัคซีนไปพบแพทย์ทุกครั้งเพื่อหารือ เผื่อในกรณีที่มี ยังได้รับวัคซีนไม่ครบหรือมีวัคซีนใหม่ๆขึ้นมาจะได้เพิ่มโอกาสที่บุตรหลานจะได้รับการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม”นายสมศักดิ์ กล่าว 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับข้อมูลโรคไอกรน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ในระบบทางเดินหายใจ ติดต่อผ่านการไอ จาม มีอาการคล้ายหวัดทั่วไปในช่วงแรก หลังจาก 1-2 สัปดาห์ จะไอรุนแรง ไอ เป็นชุดๆ ในบางรายอาจหยุดหายใจ และเสียชีวิต ดังนั้น กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบ ถุงลมอุดกั้น เฝ้าระวังอาการ  หากมีอาการเข้าได้ให้รีบไปพบแพทย์ กลุ่มที่เคยไดรับวัคซีนแล้ว เช่น เด็กโต กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวระบบทางเดินหายใจ ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น  กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้ม ที่จะถ่ายทอดไปให้บุตรได้ เนื่องจากวัคซีนไอกรน จะเริ่มให้เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน ดังนั้นช่วงแรกเกิดถึง 2 ปี จะยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม ยังคงให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อลดการถ่ายทอดโรคเชื้อระบบทางเดินหายใจ  ทั้งนี้รัฐสนับสนุนวัคซีนไอกรน ฉีดในเด็กทุกคน เข็มแรกตั้งแต่อายุ 2 เดือน ต้องฉีดรวม 5 เข็ม แต่ภูมิคุ้มกันจะลดเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น