วันที่ 13 พ.ย.2567 เวลา 11.50 น. ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังจากที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือขอเข้าพบประธานรัฐสภา เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ได้นัดหมายไว้แล้วในช่วงเช้าของวันที่27พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กมธ.การพัฒนาการเมืองฯต้องการขอรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อำนาจหน้าที่ของประธาน เรายินดีที่จะพบ ไม่ว่าจะเป็นกมธ.ใด เพราะจะได้ทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ประชาชน

โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทางพรรคประชาชนส่งมาเกือบ10 ฉบับ ทางรัฐบาลก็ส่งมา ตนยังไม่ตรวจสอบว่ามีทั้งหมดกี่ฉบับ แต่ถ้าฉบับไหนที่ส่งมาแล้ว ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อบังคับฯ ก็ยินดีที่จะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อพิจารณา ส่วนจะผ่านหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับสมาชิกรัฐสภา เพราะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องประชุมร่วมรัฐสภา หลังจากนี้จะเชิญวิป3ฝ่าย และผู้แทนรัฐบาล มาหารือก่อนเปิดสมัยประชุมช่วงต้นเดือนธ.ค.นี้ เพื่อหารือว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีทั้งหมดกี่ฉบับ จะพิจารณาประชุมกี่วัน จะใช้เวลาพิจารณากี่วัน เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย คุ้มค่าเพราะมีจำนวนหลายฉบับ

เมื่อถามว่า คาดหวังให้ฝ่ายบริหารตอบรับคำเชิญของกมธ.ฯเพื่อสนับสนุนกิจการของสภาฯอย่างไร ประธานรัฐสภา กล่าวว่า เป็นไปตามกฎหมาย และข้อบังคับฯ ว่ากมธ.ฯเชิญใครบ้าง ถ้าไม่มาก็ต้องทักท้วงไป หรือรายงานไปที่รัฐมนตรี หรือนายกฯ อาจจะหารือในที่ประชุมสภาฯก็ได้ เพื่อของความร่วมมือแก้ไขปัญหา ตนคิดว่าเปิดสมัยประชุมมาเหลือเวลาอีก2ปีกว่า ก็จะหมดสภาฯชุดนี้ กฎหมายต่างๆที่ค้าง ตน และฝ่ายสภาฯทั้งหมด พร้อมที่จะให้ความร่วมมือให้เกิดประโยชน์กับประชาชน แต่จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพรรคการเมืองทั้งหลาย หากทุกอย่างร่วมมือกัน สร้างความเข้าใจ ปัญหาก็จะลุล่วงไปด้วยดี แต่ถ้าต่างคนต่างคุยคนละทาง ปัญหาจะไม่เสร็จตามต้องการ

“ผมไม่สามารถทำให้ได้ทั้งหมดตามที่ต้องการ หรือร้องขอ ต้องดูว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ขัดแย้งกับคำวินิจฉัยศาลฯหรือขัดแย้งกับข้อบังคับฯหรือไม่ ดูคร่าวๆร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน ก็พยายามดำเนินการไม่ให้ผิดรัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับฯ เพราะแก้เป็นรายมาตรา แต่ต้องดูเนื้อหาในรายละเอียดอีกครั้ง โดยเฉพาะการพิจารณาว่าจะทำประชามติตอนไหน ต้องมาหารือกัน” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว