เรียบร้อยโรงเรียนทรัมป์ไปตามระเบียบ

สำหรับ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2024 (พ.ศ. 2567) ที่ปรากฏว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรครีพับลิกัน คว้าชัยชนะเหนือนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัครฯ จากพรรคเดโมแครต ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 และเป็นการหวนคืนทำเนียบขาว ในฐานะประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อีกสมัย ด้วยคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง หรืออิเล็กทอรัลโหวต 312 เสียง ต่อ 226 เสียง ซึ่งก็ต้องถือว่า ขาดลอยทิ้งห่างพอสมควร เช่นเดียวกับคะแนนของป๊อปปูลาโหวต หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป ปรากฏว่า นายทรัมป์ ได้คะแนนไป 74,834,220 เสียง มากกว่านางแฮร์ริส ที่ได้ 71,239,698 เสียง หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยที่ร้อยละ 50.4 ต่อ 48

ผลเลือกตั้งที่ออกมา สร้างความยินดีปรีดาให้แก่พลพรรครีพับลิกัน และกองเชียร์ นอกเหนือจากนายทรัมป์ ที่ก็ต้องดีอกดีใจยิ่งกว่าใครๆ อย่างแน่ๆ ทว่า ในขณะเดียวกัน ก็สร้างอาการ “ช็อก” หรือ “สะดุ้งตกใจ” ให้แก่อีกหลายๆ ฝ่ายอยู่เหมือนกัน ทั้งในและนอกสหรัฐฯ

เริ่มจากตัวของ “นางกมลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คู่แข่งขันของนายทรัมป์บนสังเวียนเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ต้องบอกว่า เกิดอาการช็อกยิ่งกว่าใครๆ

ทั้งนี้ เพราะจากการสำรวจความคิดเห็น หรือโพลล์ ของประชาชนชาวอเมริกัน ในระดับของโพลล์แห่งชาติ หรือเนชันแนลโพลลิงแอเวอเรจ ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน เพียง 1 วัน ปรากฏว่า ทั้งนายทรัมป์ และนางแฮร์ริส ยังมีคะแนนนิยมคู่คู่สูสีอย่างที่สุด ถึงขนาดเหล่าบรรดาคอการเมืองของสหรัฐฯ เอ่ยปากกันเป็นเสียงเดียวก่อนหน้านี้ว่า จะเป็นการชิงชัยตำแหน่งประธานธิบดีที่คู่คี่สูสีที่สุดในรอบหลายทศวรรษของสหรัฐฯ เลยทีเดียว แถมมิหนำซ้ำ นางแฮร์ริส ก็ยังมีคะแนนนิยมเหลื่อมนำหน้านายทรัมป์เล็กน้อยอีกต่างหากด้วย คือ ร้อยละ 49 ต่อ 48

ทว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมา กลายเป็นว่าฉีกผลโพลล์ หักปากกาเซียน เพราะนายทรัมป์ คว้าชัยไปอย่างท่วมท้วนทั้งคะแนนเสียงของอิเล็กทอรัลโหวต และป๊อปปูลาโหวต ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น

บรรดาผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต ถึงกับร่ำไห้ระหว่างฟังการปราศรัยยอมรับความพ่ายแพ้เลือกตั้งของรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส (Photo : AFP)

ตามมาด้วย “บรรดาพลพรรคใหญ่น้อยของพรรคเดโมแครต” และ “กลุ่มทุนของพรรคเดโมแครต” ต่างเกิดอาการช็อกันไปทั้งพรรค เพราะ “ปรากฏการณ์แห่งทรัมป์” ได้ทำให้พรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะทั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสส. และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ซึ่งการเลือกตั้งทั้งสองสภาดังกล่าว มีขึ้นในวันเดียวกันกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือ วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายนเช่นกัน

เรียกได้ว่า พรรคเดโมแครต พ่ายแพ้ให้พรรครีพับลิกันอย่างยับเยิน ในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปี 2024 (พ.ศ. 2567) นี้

ถึงขนาดทำให้ “หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลระดับสูงของพรรคเดโมแครต” อย่าง “นางแนนซี เพโลซี” ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ” ได้ออกมาฟาดงวง ฟาดงา ด้วยความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อเหล่าเแกนนำของพรรคเดโมแครต ในเรื่องของความผิดพลาดล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า สำหรับการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งใหญ่ครั้งนี้

นางแนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แกนนำคนสำคัญของพรรคเดโมแครต กับบรรยากาศแสนเศร้าในวันที่รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง (Photo : AFP)

ไม่เว้นแม้กระทั่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ที่ยังคงนั่งเก้าอี้ผู้นำในทำเนียบขาวอยู่ ในฐานะแกนนำพรรคเดโมแครต ก็ยังถูกอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรเพโลซี ตำหนิวิจารณ์ว่า เป็นหนึ่งในตัวต้นเหตุที่ทำให้พรรคเดโมแครตต้องพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเขาถอนตัวจากการชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช้าเกินไป ภายหลังจากที่เขาพ่ายแพ้อย่างยับเยินหมดรูปในศึกอภิปรายโต้วาทีเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ หรือดีเบต กับนายทรัมป์ เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน

โดยความพ่ายแพ้ดังกล่าว ทำให้พลพรรคเดโมแครต นำโดยนางเพโลซี ร่วมกันกดดัน เพื่อให้ประธานาธิบดีไบเดน ถอนตัวจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 แล้วให้ผู้ที่เหมาะสมอื่นๆ มาลงสมัครรับเลือกตั้งแทน ก่อนที่จะได้รองประธานาธิบดีแฮร์ริส มาชิงชัยแทนที่ประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งกว่าที่ประธานาธิบดีไบเดน จะยินยอม ก็ล่วงเลยเวลามาถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคม

ทั้งนี้ มีรายงานว่า กว่าที่จะได้ตัวรองประธานาธิบดีแฮร์ริสมาชิงชัย ก็มีการสู้ศึกภายในพรรคเดโมแครต กันฝุ่นตลบอยู่เหมือนกัน จากกลุ่มการเมืองภายในพรรค เช่น กลุ่มที่สนับสนุนรองประธานาธิบดีแฮร์ริส และกลุ่มที่ต้องการให้นางมิเชลล์ โอบามา อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นภริยของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา นั้น มาสู้ศึกเลือกตั้งแทนประธานาธิบดีไบเดน โดยทางกลุ่มที่สนับสนุนนางมิเชลล์ โอบามา นั้น ได้อ้างอิงผลการสำรวจคะแนนนิยมว่า นางมิเชลล์ โอบามา เหนือกว่าทุกคนในพรรคเดโมแครต รวมถึงรองประธานาธิบดีแฮร์ริสอยู่ไม่น้อย คือ ร้อยละ 50 ต่อ 42 ห่างกันถึง 8 จุดด้วยกัน แต่สุดท้ายแล้วทางพรรคเดโมแครตได้นางกมลา แฮร์ริส มาชิงชัยกับนายทรัมป์

ส่วนกลุ่มทุนของพรรคเดโมแครตนั้น เกิดอาการช็อกกับผลเลือกตั้งที่ออกมา ก่อนรำพึงรำพันว่า ทุ่มเม็ดเงินไปถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยก็กว่า 34,390 ล้านบาท) ก็ยังพ่ายแพ้เลือกตั้ง พร้อมกับเงินดังกล่าวหายวับไปกับตา

ผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐฯ ที่รั้วกั้นพรมแดนแห่งหนึ่งระหว่างรัฐเทกซัสของสหรัฐฯ กับรัฐซิวดัดฆัวเรซของเม็กซิโก ซึ่งตามนโยบายของทรัมป์ ผู้อพยพเหล่านี้ต้องถูกเนรเทศ (Photo : AFP)

ตามมาด้วย กลุ่มผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในสหรัฐฯ ที่ได้รับความคาดหมายว่า ถูกกระทบมิใช่น้อยกับนโยบายที่เป็นผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของนายทรัมป์ โดยถึงขั้นอาจถูกเนรเทศกันเลยทีเดียว

รายต่อมาที่ออกอาการช็อก ไม่แพ้พลพรรคเดโมแครตในสหรัฐฯ ก็คือ “ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน” ซึ่งหากกันตามใจของประธานาธิบดียูเครนรายนี้แล้ว ก็ต้องบอกว่า เขาส่งเสียงเชียร์ต่อนางกมลา แฮร์ริสมากกว่า เนื่องจากสหรัฐฯ ในยุคเดโมแครตเรืองอำนาจ ก็ถือเป็นแหล่งเงินทุน และสรรพาวุธต่างๆ ยูเครน ในการทำสงครามกับรัสเซีย ซึ่งทันทีที่นายทรัมป์ชนะเลือกตั้ง บรรดานักวิเคราะห์ล้วนฟันธงตรงเป็นเสียงเดียวว่า ยูเครนก็จะได้รับผลกระทบมิใช่น้อย ตามการประกาศรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนายทรัมป์ ที่แสดงท่าทีไม่สนับสนุนต่อยูเครน เหมือนกับที่รัฐบาลสหรัฐฯ พรรคเดโมแครตทำอยู่ และยังระบุด้วยว่า ต้องการให้สงครามยุติลงภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่เขาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งหากสงครามยุติจริงก็หมายความว่า หายนะบังเกิดกับยูเครน ที่หยุดสงครามท่ามกลางที่เสียดินแดนให้แก่รัสเซียไปแล้วถึงร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เมื่อครั้งขึ้นกล่าวที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ หรือสภาคองเกรส กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยมีรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส และนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน (Photo : AFP)

รายต่อมาที่ไม่ปลื้มกับชัยชนะของนายทรัมป์ ก็คือ รัฐบาลปักกิ่ง ที่ต้องเตรียมการรับมือกับมาตรการกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายทรัมป์ที่จะมีขึ้นนี้ ที่กล่าวกันว่า อาจจะได้เห็นการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนถึงร้อยละ 60

ปิดท้ายกันด้วยประชาชนคนในพื้นที่ฉนวนกาซา และเลบานอน ที่ช็อกกับถ้อยแถลงของนายทรัมป์ ที่กล่าวถึงสงครามในพื้นที่ดังกล่าว ว่าจะให้อิสราเอลดำเนินการไปจน “เสร็จงาน (Finish the job)” ในกาซา ซึ่งกว่าจะเสร็จงานก็คงจะละเลงเลือดต่อไปอีกมิใช่น้อย