ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) เปิดโครงการรวมพลังเครือข่าย เสริมสร้างศักยภาพให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) ประจำปี 2567 เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม พร้อมขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพ จป. ในการทำงาน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
วันนี้ (11 พ.ย.67) เวลา 09.00 น. ที่ โรงแรมอิมพีเรียล อำเภอเมืองนราธิวาส นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) เป็นประธานเปิดโครงการรวมพลังเครือข่าย เสริมสร้างศักยภาพให้ จป. ประจำปี 2567 ภายใต้กิจกรรม "เครือข่าย จป. รวมใจ สร้างความปลอดภัยชายแดนใต้ (วัน จป.)" โดยมี นางจันทรา พิมพ์ทอง สวัสดิการ และคุ้มครองแรงงานจังหวัดนราธิวาส , ผู้บริหารสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ,หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยภูมิภาค (ภาคใต้) , ชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยการทำงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ โรงพยาบาลราษฎร์นรา โรงพยาบาลปัตตานีและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมการโครงการฯ
นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ได้เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการในประเทศไทย มาเป็นระยะเวลา 39 ปีแล้ว และแม้ว่ามีบุคลากรผู้ดูแลรับผิดชอบในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานโดยตรง แต่ต้องยอมรับว่าอุบัติเหตุยังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งเกิดจากระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่ยังขาดประสิทธิภาพ บุคลากรขาดความรู้เกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันแก้ไข การประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุ ดังนั้น การดำเนินงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) จึงเป็นสิ่งสำคัญ ของการพัฒนาด้านความปลอดภัยในการทำงานให้เกิดผลสำเร็จ
ทั้งนี้ การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรื่องง่ายหรือยากจนเกินไป ซึ่งจะต้องเริ่มจากที่ตัวเราก่อน โดยเฉพาะการมีพฤติกรรมหรือจิตสำนึกด้านความปลอดภัย ในเชิงป้องกัน ให้ตระหนักรู้ถึงความปลอดภัยตลอดทุกการกระทำและทุกสภาพแวดล้อมที่ดำรงอยู่ เพื่อก่อให้เกิดความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของคนในชาติ และจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง
ในปี 2528 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัย ในการทำงานของลูกจ้าง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2528 โดยข้อกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้สถานประกอบกิจการ ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน โดยรับผิดชอบงาน ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง รวมถึงการพัฒนางาน ความปลอดภัยในการทำงาน จนต่อมา ได้เกิดองค์กรภาคีเครือข่ายและชมรมของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีกระบวนการทำงานเป็นการทำงานแบบรวมพลังภาคประชาชน ในการ เสริมสร้างความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วม และพัฒนางานด้านความปลอดภัย และได้กำหนดให้ วันที่ 12 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน
สำหรับโครงการฯ ที่จัดขึ้น มุ่งหวังพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยของหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่าย ส่งเสริมและแก้ไขปัญหา เกี่ยวกับความปลอดภัยอย่างยั่งยืนและส่งผลให้การประสบอันตรายจากการทำงานลดลง กิจกรรมสำคัญประกอบด้วย การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง “ความปลอดภัยในการใช้บริการรถยนต์สาธารณะ ด้วยหลัก 5 M” “อุบัติเหตุ และโรคจากการทำงาน” ,การจัดบูธนิทรรศการด้านความปลอดภัยฯ จากโรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลราษฎร์นรา และศูนย์ส่งเสริมความปลอดภัยฯ (ภาคใต้) เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ