“สมศักดิ์” เกาะติดเหตุการณ์เด็กนักเรียนระยอง ท้องเสีย อาเจียน กำชับเร่งหาสาเหตุ - แนวทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ สั่งเตรียมความพร้อมดูแลผู้ป่วยหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย จับตาอาการใกล้ชิด แม้แพทย์ให้กลับบ้านแล้วก็ตาม พร้อมเฝ้าระวังการแพร่ระบาดในชุมชม
วันที่ 9 พ.ย.2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเหตุการณ์การระบาดของโรคอาหารเป็นพิษที่โรงเรียนวัดพลงช้างเผือกและโรงเรียนแกลงวิทยสถาวร อ.แกลง จ.ระยอง ว่า ตนได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรับทราบรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าตั้งแต่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารสุข โดยทีมสอบสวนโรค สสจ.ระยอง ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ได้ไปสอบสวนและควบคุมโรค โดยเก็บตัวอย่างอาหารและน้ำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติ ตรวจเชื้อแบคทีเรียและไวรัสก่อโรคทางเดินอาหาร ส่งตรวจมายังสถาบันบำราศนราดูร และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้รายงาน สาเหตุเบื้องต้นคาดว่า อาจจะมาจากผู้ประกอบการร้านอาหารปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์สุขาภิบาลอาหาร หรือน้ำใช้มีค่าคลอรีนคงเหลือต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (ต่ำกว่า 0.2 ppm) แต่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าผู้ป่วยรับเชื้อมาจากที่ใด เนื่องจากข้อจำกัดไม่สามารถสัมภาษณ์ผู้ป่วยได้เพราะผู้ป่วยทุกรายหยุดโรงเรียน จากประวัติการรับประทานอาหารเบื้องต้นผู้ป่วยทุกรายมีทั้งทานอาหารชนิดเดียวกันและไม่ได้ทานอาหารชนิดเดียวกัน เนื่องจากร้านจำหน่ายอาหารในโรงเรียนมีเป็นจำนวนมากและยังมีการทานอาหารในแหล่งอื่น โดยทั้ง 2 โรงเรียนอยู่ตรงข้ามกัน จึงมีเด็กมีลักษณะอาการเดียวกัน ตนได้กำชับไปยังเจ้าหน้าที่ให้เร่งหาสาเหตุและหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ระหว่างรอผลตรวจที่แน่ชัด เจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำกับทางโรงเรียน หากพบนักเรียนมีอาการให้หยุดเรียนทันทีและให้ควบคุมกำกับร้านค้าจำหน่ายอาหารในโรงเรียนปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหาร อีกทั้งให้ความรู้ด้านสุขศึกษาเกี่ยวกับอาหารเป็นพิษในโรงเรียน ขณะนี้โรงพยาบาลแกลงและโรงเรียนร่วมกันเฝ้าระวังการเกิดโรคในชุมชนและภายในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ป่วยบางรายอาการทุเลาและแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน แต่ขอให้เจ้าหน้าที่คอยติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดจนกว่าสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลาย และให้เตรียมความพร้อมการดูแลผู้ป่วยหากมีเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จะมีมาตรการเพิ่มเติม โดยจะเก็บตัวอย่างน้ำแข็ง และน้ำดื่มที่สถานผลิต และวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.67 วางแผนสอบสวนโรคในพื้นที่เพิ่มเติม เช่น ระบบน้ำในโรงเรียน ท่อมีแตกตรงไหนหรือไม่ เฝ้าระวังประชาชนในพื้นที่มีการป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ พร้อมกับประสานทีมระบาดของ รพ.ทุกแห่ง เฝ้าระวังข้อมูลอาการอุจจาระ อาหารเป็นพิษว่ามีเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับโรคอาหารเป็นพิษ เป็นภาวะที่เกิดจากรับประทานอาหาร หรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสียถ่ายเหลวตามมา อาหารเป็นพิษสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยทั่วไปอาหารเป็นพิษเป็นภาวะไม่รุนแรง และสามารถหายได้เอง การพบอาหารเป็นพิษเกิดจากเชื้อโรคที่มีการปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำที่บริโภค โดยเชื้อสามารถผ่านมาทางผู้ป่วยที่สามารถแพร่เชื้อได้ เป็นผู้ปรุงอาหารโดยไม่ได้ล้างมือทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้อในอาหาร หรือเชื้อที่มีอยู่ในอาหารหรือน้ำที่ไม่ผ่านการทำความสะอาดหรือความร้อนอย่างเพียงพอ