พลังประชารัฐ แนะยกเลิก MOU 2544 ทำบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ เหตุทำไทยเสียเปรียบ ยันไม่ขวางรัฐบาลเจรจาอ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนไทย-กัมพูชา 

  วันนี้ (8 พ.ย.67) ประมาณ 11.00 น. ที่พรรคพลังประชารัฐ จัดแถลงข่าว "MOU 2544 ภาคต่อ EP.2" โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานกรรมการด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์  กล่าวว่าพรรคพลังประชารัฐ ประกาศจุดยืนสนับสนุนการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ขัดขวางการเจรจาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน และยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย  เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องเกาะกูด เราไม่ได้เสียเกาะกูด แต่อาณาเขตทางทะเลรอบเกาะกูดถูกละเมิดบนหลักกฎหมายสากลจากการลากเส้นอาณาเขตทางทะเล กินพื้นที่อาณาเขตทางทะเลของเกาะกูดผิดหลักกฎหมายสากล อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1982 

พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ยกเลิก MOU 2544 เพราะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาที่จะบรรลุข้อตกลง เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน เพราะ MOU 2544 มีปัญหาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน  มีขนาดใหญ่เกินจริงที่ไม่ได้อยู่บนหลักเจรจาอาณาเขตทางทะเลด้วยกฎหมาย ดังนั้นการเจรจาบนเส้นอาณาเขตที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงบนหลักกฎหมายสากล หากมีข้อยุติและเกิดการลงนามระหว่างสองประเทศ จะมีผลระยะสั้นคือ จะทำให้ประเทศเสียเปรียบการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานในพื้นที่อันอาจเป็นอาณาเขตของไทยในระยะยาว จะเป็นหลักฐานทางการยอมรับในประวัติศาสตร์ และหากมีข้อพิพาทในอนาคตก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการเสียพื้นที่อาณาเขตทางทะเลที่ไม่อาจแก้ไขได้ 

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ กล่าวต่อว่าเรื่อง MOU 2544 ไทยเสียเปรียบและเป็นบันไดนำไปสู่การเสียดินแดน พรรคพลังประชารัฐ ตรวจสอบพบว่ารัฐบาลให้สิทธิพิเศษในการเจรจากับกัมพูชาเหนือกว่าประเทศอื่นในการแบ่งเขตไหล่ทวีป ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา และอินเดีย ล้วนต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล แต่กัมพูชาเป็นคู่เจรจาที่ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล ซึ่งขัดกับวรรคท้ายของพระบรมราชโองการที่ระบุว่า การกำหนดไหล่ทวีปกับประเทศใกล้เคียงให้ตกลงกันโดยยึดถือบทบัญญัติอนุสัญญาเจนีวา 1958
 
MOU 2544 ยังเป็นการลดสถานะของเส้นเขตแดนตามประกาศพระบรมราชโองการที่ทำตามกฎหมายสากล ให้มีค่าเท่ากับเส้นที่ลากเส้นเขตแดนที่ไม่มีกฎหมายสากลรองรับ กินพื้นที่ราชอาณาจักรไทยไปถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร MOU 2544 จึงทำให้ไทยที่ทำตามกฎหมายสากลกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะอีกฝ่ายทำนอกกฎหมายสากล 

อย่างไรก็ตามการลากเส้นเขตแดนทางทะเลเกินสิทธิของกัมพูชายังทับน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ทับทะเลอาณาเขตชิดเกาะกูด และทับเขตเศรษฐกิจจำเพาะกลางอ่าวไทยใกล้อ่าวตัว  เท่ากับรัฐบาลไทยรับรู้ว่า ทะเลตราดและทะเลเกาะกูดอยู่ในเขตของกัมพูชา และถูกนำเข้ามาอยู่ในกรอบการเจรจา ไทยจึงเป็นฝ่ายเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่เริ่มเจรจา

รัฐบาลได้อธิบายว่า MOU 2544 ไม่ปรากฏข้อความว่าไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่เส้นดังกล่าวปรากฏในแผนที่แนบท้าย แม้ไม่ได้เขียนตรง ๆ ว่ายอมรับ แต่แผนที่คือ เอกสารราชการที่แสดงการรับรู้รับทราบ  เส้นเขตแดนของกัมพูชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในเอกสารราชการไทย ทำให้ฝ่ายกัมพูชาได้ประโยชน์  และทำให้ไทยเสียหาย

หากจะเทียบกรณีไทย-มาเลเซีย และไทย-กัมพูชา จะเห็นว่ามีการดำเนินการที่เร่งรีบผิดปกติ โดยใช้เวลาเจรจาเพียง 44 วัน จนระบุเส้นละติจูดผิด ขณะที่กรณีไทย-มาเลเซีย ใช้เวลา 7 ปี จึงเกิด MOU แสดงให้เห็นความรีบร้อน ไม่รัดกุม และอาจนำประเทศไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในอนาคต อย่างไรก็ตามหากยอมให้มีการขุดปิโตรเลียมและมีการแบ่งผลประโยชน์กัน 50% ระหว่างไทย-กัมพูชา จะถือเป็นหลักฐานสำคัญว่า ไทยยอมรับสิทธิอธิปไตยของกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าว และเสี่ยงที่จะถูกนำขึ้นสู่ศาลโลก เพื่อแบ่งพื้นที่ให้กัมพูชา 13,000 ตารางกิโลเมตรในอนาคต 

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ตั้งข้อสงสัยถึงการทำงานของกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุทำให้ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ตระหนักถึงปัญหา MOU 2544 โดยเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ผู้มีหน้าที่ปกป้องประเทศในเวทีกฎหมายสากล ชี้แจงกรณีการเสนอให้รัฐบาลทำ MOU ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่าเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ผ่านเกาะกูดนั้นขัดกับกติกาสากล 3 ข้อ ได้แก่ 1.อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตฯ 2.สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ 3.อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ดังนั้นจึงขอเรียกร้องร้องไปยังระทรวงการต่างประเทศ ดังนี้

1.กระทรวงการต่างประเทศ มีหนังสือท้วงติงกัมพูชาหรือไม่ว่า เส้นดังกล่าวผิดกติกาสากล
2.กระทรวงการต่างประเทศเคยแจ้งปัญหานี้ให้รัฐบาลไทยชุดใดรับทราบหรือไม่ 
3.กระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้รัฐบาลทำ MOU โดยเอาเส้นของกัมพูชา ซึ่งรู้ดีอยู่แล้วว่าผิดกติกาสากลไปแสดงไว้เพราะเหตุใด
4.MOU เป็นการที่รัฐบาลไทยสละสิทธิที่จะท้วงติงเรื่องเส้นผิดกติกาสากลใช่หรือไม่
5.เส้นที่ผ่านเกาะกูดจะถูกต้องตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ก็เฉพาะกรณีที่ไทยและกัมพูชาเป็นเจ้าของเกาะกูดกันคนละส่วนใช่หรือไม่ 

นายธีระชัย ระบุว่าหัวใจของ MOU ที่เป็นธรรมต้องเจรจาตกลงพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จก่อน แต่กระทรวงการต่างประเทศกลับตราแผนที่พื้นที่พัฒนาร่วมที่ผิดกติกาสากล เพื่อรีบร้อนเจรจาส่วนแบ่ง การที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้เปิดเผยต่อรัฐบาลเป็นเหตุให้ทุกรัฐบาลเดินหน้าเจรจาในกรอบที่ผิดกติกาสากลมาตลอด ทั้งที่ควรจะแจ้งรัฐบาลให้รู้ข้อเท็จจริงเพื่อยกเลิก MOU 

ภายหลังการแถลงข่าวนายสนธิรัตน์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ของแกนนำรัฐบาลที่เกาะกูด จังหวัดตราดในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาในการลากเส้นอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน  แต่ยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ส่วนการยกเลิก MOU 2544 หากรัฐบาลยกเลิกและร่างบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ และนำสิ่งที่เป็นข้อโต้แย้งไปประกอบ โดยเริ่มต้นจากการแบ่งเขตการเจรจาภายใต้กฎหมายสากล ซึ่งหากเรื่องนี้ไม่เกิดเชื่อว่าการเจรจาอย่างไรก็เป็นไปได้ยาก เส้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเพราะสุดท้ายติดปัญหาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดน สำหรับการยกเลิก  MOU2544 เชื่อว่าสามารถยกเลิกได้ผ่านการเมืองการของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งตามข้อมูลที่พรรคมีนั้น เชื่อว่าสามารถยกเลิกได้