สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…
นับเป็นหนแรกที่การประชุมคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ เป็นที่จับตามองจากหลายๆ ภาคส่วนว่าแคนดิเดทรายไหนจะเข้าวิน ระหว่างนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและรัฐมนตรีคลัง นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์…*…
เดิมทีชื่อของนายกิตติรัตน์เป็นเต็งหนึ่ง แต่ถูกคนบางกลุ่มปลุกกระแสต่อต้านจากทั้งในและนอกแบงก์ชาติภายใต้เหตุผลการเข้ามาของนายกิตติรัตน์จะเปิดให้อำนาจการเมืองเข้าแทรกแซงการดำเนินงานของแบงก์ชาติ จนกระทบต่อความเชื่อมั่นในความเป็น “อิสระ”ของแบงก์ชาติ …*…
ทั้งที่หากว่ากันตามข้อเท็จจริง ความเป็นตัวตนคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ไม่ได้มีปัญหาอะไรแม้แต่น้อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอีก 2 แคนดิเดท เพราะนายกิตติรัตน์เคยผ่านประสบการณ์ด้านการคลังในฐานะอดีตรัฐมนตรีคลัง และเคยผ่านประสบการณ์ด้านกาารเงินในฐานะอดีตกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย …*…
หากจะโจมตีว่านายกิตติรัตน์มาจากอำนาจการเมือง โดยข้อเท็จจริงแล้วนายกิตติรัตน์พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองมานาน ไม่มีปัญหาข้อขัดข้องใดต่อระเบียบของแบงก์ชาติ …*…
ถ้าจะมีข้อเสียก็คงเป็นแค่เรื่องที่นายกิตติรัตน์เคยแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายบางด้านของแบงก์ชาติในช่วงที่ผ่านมา โดยนายกิตติรัตน์มีความเห็นสอดรับไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาล …*…
จึงต้องถามดังๆ ไปถึงแบงก์ชาติ และกองเชียร์ว่า การต่อต้านายกิตติรัตน์ เป็นการแสดงออกถึงความเป็น “อิสระ”ที่แบงก์ชาติภาคภูมิใจ หรือ “ความคับแคบ”ไม่ยอมรับผู้ที่มีความเห็น มุมมองแตกต่างจากตัวเองกันแน่ …*…
หลังล่วงเลยมากว่า 20 ปี กรณี “เอ็มโอยู 44” หรือบันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ที่ได้มีการทำไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร กลับมาเป็นประเด็นร้อน จนเป็นที่วิตกว่าอาจกลายเป็นชนวนฉุดให้มวลชนลงท้องถนนเรียกร้องให้มีการยกเลิกเอ็มโอยู 44 จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ เนื่องจากมีการหวั่นเกรงกันว่าภายใต้รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่มีท่าทีสานต่อเอ็มโอยู 44 จะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดงคือ เกาะกูด ซ้ำรอยกรณีปราสาทพระวิหาร …*…
ทั้งนี้หากย้อนกลับไปดูเนื้อหาในเอ็มโอยู 44 ดังกล่าว มีสาระสำคัญคือให้ดำเนินการทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาพื้นที่ร่วมไปพร้อมกัน โดยให้ทั้ง 2 ฝ่ายคือไทยและกัมพูชาเจรจาหารือกันบนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และผลประโยชน์ร่วมกันกลไกหลักของการเจรจาแก้ไขปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือโอเอซี ผ่านทางคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค หรือเจทีซี (Joint Technical Committee: JTC) ไทย-กัมพูชา ซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด้านความมั่นคง กฎหมาย และพลังงาน ทั้งนี้ สำหรับแนวทางร่วมในการแก้ไขปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนดังกล่าว ที่ทั้งไทยและกัมพูชา เห็นสอดคล้องกันทั้งในระดับนโยบายและระดับเทคนิค คือ 1.ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศจะต้องยอมรับข้อตกลงได้ 2.จะต้องนำเรื่องให้รัฐสภาของทั้ง 2 ประเทศพิจารณาให้ความเห็นชอบ และ 3.ข้อตกลงจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง …*…
“ เกาะกูดเป็นของประเทศไทย และเป็นมาตั้งนานแล้ว ซึ่งไทยและกัมพูชาต่างรับรู้อยู่แล้วว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย และเป็นไปตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส และแน่นอนว่ารัฐบาลจะไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม”นายกฯระบุพร้อมกับย้ำด้วยว่า ประเทศไทยไม่เคยมีปัญหาเรื่องเกาะกูดกับกัมพูชา และทางกัมพูชาก็ไม่เคยมีข้อสงสัยในประเด็นนี้ ขอให้มั่นใจว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ...*...
อย่างไรก็ตามแม้จะมีคำรับรองว่าประเทศไทยไม่มีทางเสียเกาะกูดให้กัมพูชา แต่ก็ยังมีข้อสังเกตุชวนให้เป็นกังวลจากนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านว่ากรณีพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมขณะนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เพราะเกี่ยวพันอย่างมีนัยสำคัญถึงความพยายามในการนำทรัพยากรปิโตรเลียมจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ประโยชน์ เป็นสมบัติชาติที่มีมูลค่ามหาศาล และรัฐบาลไทยได้พยายามดำเนินการเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ถึงจะเป็นที่ชัดเจนแล้วทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติว่าเกาะกูดเป็นของไทย และกัมพูชาก็ไม่เคยอ้างหรือมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนของเกาะกูดแต่อย่างใด ดังนั้นเกาะกูดไม่มีทางจะเป็นของชาติอื่นแน่นอน แต่เรื่องน่ากังวลที่ยังไม่ได้พูดถึงกันมากนัก ก็คือการจัดการผลประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันอันถือเป็นสมบัติชาติที่มีมูลค่ามหาศาล ดังนั้น จึงขอตั้งคำถามต่อรัฐบาล ถึงแผนการจัดการสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนดังกล่าว ดังนี้ 1.หากไทยกับกัมพูชาเจรจากันเป็นผลสำเร็จ จนนำไปสู่การเปิดแหล่งปิโตรเลียมได้ สัมปทานเหนือพื้นที่ที่ไทยเคยให้แก่บริษัทต่างๆ ทั้งของไทยและต่างชาติตั้งแต่ปี 2515 แต่ถูกแช่แข็งไว้เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงเรื่องการอ้างสิทธิทับซ้อนกันได้ จะมีการจัดการอย่างไร จะเปิดประมูลใหม่หรือไม่ และ 2. หากมีการเปิดประมูลใหม่ รัฐบาลจะจัดการอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ไม่ละเมิดกติการะหว่างประเทศ และทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่าความพยายามในการเจรจากับกัมพูชาหลายสิบปีที่ผ่านมาเพื่อเปิดแหล่งปิโตรเลียมนี้ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชนชาวไทย ไม่ใช่การเปิดช่องให้กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งเข้ามาแสวงหาความมั่งคั่งจากทรัพยากรอันเป็นของคนไทยทั้งประเทศ เหมือนกับที่ประชาชนเกิดข้อครหาต่อท่าทีและนโยบายพลังงานของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา …*…
“ปัญหาใหญ่ที่สุดตอนนี้ คือ ประชาชนไทยรู้สึกระแวงแคลงใจต่อเป้าประสงค์ที่แท้จริงของรัฐบาล ในการเร่งเจรจาเขตแดนพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน เพื่อเปิดแหล่งปิโตรเลียม ผมเชื่อว่าหากรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัมปทาน หรือมีการแถลงแนวทางที่ชัดเจนในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว จะช่วยคลายความกังวลและข้อครหาต่างๆ ที่มีต่อรัฐบาลลงได้มาก และทำให้การเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน รวมถึงการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเดินหน้าไปได้โดยราบรื่น”ข้อคิดจากผู้นำฝ่ายค้าน…*…
งานนี้หากรัฐบาลบริหารจัดการได้ดี ก็ได้หน้าสามารถอวดอ้างเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงได้ แต่ถ้าเคลียร์ไม่ดี ก็สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่รัฐบาลแพทองธาร อาจเผชิญชะตากรรมซ้ำรอยรัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ และรัฐบาลอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ที่มา:เจ้าพระยา (7/11/67)