สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…

นับเป็นหนแรกที่การประชุมคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ เป็นที่จับตามองจากหลายๆ ภาคส่วนว่าแคนดิเดทรายไหนจะเข้าวิน ระหว่างนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง  อดีตรองนายกฯและรัฐมนตรีคลัง นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์…*…

 เดิมทีชื่อของนายกิตติรัตน์เป็นเต็งหนึ่ง แต่ถูกคนบางกลุ่มปลุกกระแสต่อต้านจากทั้งในและนอกแบงก์ชาติภายใต้เหตุผลการเข้ามาของนายกิตติรัตน์จะเปิดให้อำนาจการเมืองเข้าแทรกแซงการดำเนินงานของแบงก์ชาติ จนกระทบต่อความเชื่อมั่นในความเป็น “อิสระ”ของแบงก์ชาติ …*…

 ทั้งที่หากว่ากันตามข้อเท็จจริง ความเป็นตัวตนคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ไม่ได้มีปัญหาอะไรแม้แต่น้อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอีก 2 แคนดิเดท เพราะนายกิตติรัตน์เคยผ่านประสบการณ์ด้านการคลังในฐานะอดีตรัฐมนตรีคลัง และเคยผ่านประสบการณ์ด้านกาารเงินในฐานะอดีตกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย …*…

หากจะโจมตีว่านายกิตติรัตน์มาจากอำนาจการเมือง โดยข้อเท็จจริงแล้วนายกิตติรัตน์พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองมานาน ไม่มีปัญหาข้อขัดข้องใดต่อระเบียบของแบงก์ชาติ …*…

 ถ้าจะมีข้อเสียก็คงเป็นแค่เรื่องที่นายกิตติรัตน์เคยแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายบางด้านของแบงก์ชาติในช่วงที่ผ่านมา  โดยนายกิตติรัตน์มีความเห็นสอดรับไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาล …*…

จึงต้องถามดังๆ ไปถึงแบงก์ชาติ และกองเชียร์ว่า การต่อต้านายกิตติรัตน์ เป็นการแสดงออกถึงความเป็น “อิสระ”ที่แบงก์ชาติภาคภูมิใจ หรือ “ความคับแคบ”ไม่ยอมรับผู้ที่มีความเห็น มุมมองแตกต่างจากตัวเองกันแน่ …*…

 หลังล่วงเลยมากว่า 20  ปี กรณี “เอ็มโอยู 44” หรือบันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ที่ได้มีการทำไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร กลับมาเป็นประเด็นร้อน จนเป็นที่วิตกว่าอาจกลายเป็นชนวนฉุดให้มวลชนลงท้องถนนเรียกร้องให้มีการยกเลิกเอ็มโอยู 44  จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ เนื่องจากมีการหวั่นเกรงกันว่าภายใต้รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่มีท่าทีสานต่อเอ็มโอยู 44 จะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดงคือ เกาะกูด ซ้ำรอยกรณีปราสาทพระวิหาร …*…

 ทั้งนี้หากย้อนกลับไปดูเนื้อหาในเอ็มโอยู 44 ดังกล่าว มีสาระสำคัญคือให้ดำเนินการทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาพื้นที่ร่วมไปพร้อมกัน โดยให้ทั้ง 2 ฝ่ายคือไทยและกัมพูชาเจรจาหารือกันบนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และผลประโยชน์ร่วมกันกลไกหลักของการเจรจาแก้ไขปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือโอเอซี ผ่านทางคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค หรือเจทีซี (Joint Technical Committee: JTC) ไทย-กัมพูชา ซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด้านความมั่นคง กฎหมาย และพลังงาน ทั้งนี้ สำหรับแนวทางร่วมในการแก้ไขปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนดังกล่าว ที่ทั้งไทยและกัมพูชา เห็นสอดคล้องกันทั้งในระดับนโยบายและระดับเทคนิค คือ 1.ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศจะต้องยอมรับข้อตกลงได้ 2.จะต้องนำเรื่องให้รัฐสภาของทั้ง 2 ประเทศพิจารณาให้ความเห็นชอบ และ 3.ข้อตกลงจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง …*…

“ เกาะกูดเป็นของประเทศไทย และเป็นมาตั้งนานแล้ว ซึ่งไทยและกัมพูชาต่างรับรู้อยู่แล้วว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย และเป็นไปตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส และแน่นอนว่ารัฐบาลจะไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม”นายกฯระบุพร้อมกับย้ำด้วยว่า ประเทศไทยไม่เคยมีปัญหาเรื่องเกาะกูดกับกัมพูชา และทางกัมพูชาก็ไม่เคยมีข้อสงสัยในประเด็นนี้ ขอให้มั่นใจว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ...*...

 อย่างไรก็ตามแม้จะมีคำรับรองว่าประเทศไทยไม่มีทางเสียเกาะกูดให้กัมพูชา แต่ก็ยังมีข้อสังเกตุชวนให้เป็นกังวลจากนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านว่ากรณีพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมขณะนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เพราะเกี่ยวพันอย่างมีนัยสำคัญถึงความพยายามในการนำทรัพยากรปิโตรเลียมจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ประโยชน์ เป็นสมบัติชาติที่มีมูลค่ามหาศาล และรัฐบาลไทยได้พยายามดำเนินการเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ถึงจะเป็นที่ชัดเจนแล้วทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติว่าเกาะกูดเป็นของไทย และกัมพูชาก็ไม่เคยอ้างหรือมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนของเกาะกูดแต่อย่างใด ดังนั้นเกาะกูดไม่มีทางจะเป็นของชาติอื่นแน่นอน แต่เรื่องน่ากังวลที่ยังไม่ได้พูดถึงกันมากนัก ก็คือการจัดการผลประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันอันถือเป็นสมบัติชาติที่มีมูลค่ามหาศาล ดังนั้น จึงขอตั้งคำถามต่อรัฐบาล ถึงแผนการจัดการสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนดังกล่าว ดังนี้ 1.หากไทยกับกัมพูชาเจรจากันเป็นผลสำเร็จ จนนำไปสู่การเปิดแหล่งปิโตรเลียมได้ สัมปทานเหนือพื้นที่ที่ไทยเคยให้แก่บริษัทต่างๆ ทั้งของไทยและต่างชาติตั้งแต่ปี 2515 แต่ถูกแช่แข็งไว้เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงเรื่องการอ้างสิทธิทับซ้อนกันได้ จะมีการจัดการอย่างไร จะเปิดประมูลใหม่หรือไม่ และ  2. หากมีการเปิดประมูลใหม่ รัฐบาลจะจัดการอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ไม่ละเมิดกติการะหว่างประเทศ และทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่าความพยายามในการเจรจากับกัมพูชาหลายสิบปีที่ผ่านมาเพื่อเปิดแหล่งปิโตรเลียมนี้ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชนชาวไทย ไม่ใช่การเปิดช่องให้กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งเข้ามาแสวงหาความมั่งคั่งจากทรัพยากรอันเป็นของคนไทยทั้งประเทศ เหมือนกับที่ประชาชนเกิดข้อครหาต่อท่าทีและนโยบายพลังงานของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา …*…

“ปัญหาใหญ่ที่สุดตอนนี้ คือ ประชาชนไทยรู้สึกระแวงแคลงใจต่อเป้าประสงค์ที่แท้จริงของรัฐบาล ในการเร่งเจรจาเขตแดนพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน เพื่อเปิดแหล่งปิโตรเลียม ผมเชื่อว่าหากรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัมปทาน หรือมีการแถลงแนวทางที่ชัดเจนในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว จะช่วยคลายความกังวลและข้อครหาต่างๆ ที่มีต่อรัฐบาลลงได้มาก และทำให้การเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน รวมถึงการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเดินหน้าไปได้โดยราบรื่น”ข้อคิดจากผู้นำฝ่ายค้าน…*…

งานนี้หากรัฐบาลบริหารจัดการได้ดี ก็ได้หน้าสามารถอวดอ้างเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงได้ แต่ถ้าเคลียร์ไม่ดี ก็สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่รัฐบาลแพทองธาร อาจเผชิญชะตากรรมซ้ำรอยรัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ และรัฐบาลอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินสภากาชาดไทย ประจำปี 2567 เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดพระบรมธาตุสวี โดยมี เตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เหรัญญิกสภากาชาดไทย ผู้บริหารสภากาชาดไทย  ผู้แทนหน่วยงานราชการในพื้นที่ และประชาชนเฝ้ารับเสด็จ ณ วัดพระบรมธาตุสวี ตำบลสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร

ประชุมชี้แจง...ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี/รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างนวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี วิชาญ มีนชัยนันท์ นพ.สุเทพ เพชรมาก นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ นพ.อภิชาติ รอดสม ผศ.ดร.ธงศักดิ์ชัย สายพระราษฎร์ ร่วมงาน พร้อมกันนี้ ดร.อัศวิน อิงคะกุล ประธาน มิราเคิล กรุ๊ป อนัคพล อิงคะกุล ให้การต้อนรับ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น

รางวัลซีไรต์...ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ เป็นประธานในงานแถลงข่าวการประกาศผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2567 ได้แก่ นวนิยาย “กี่บาด” โดย ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด โดยมี คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ นิติกร กรัยวิเชียร ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ต้องใจ ธนะชานันท์  วลัยรัตน์ ประภากมล และ กุลวดี จันทรปาน  ร่วมงาน ที่ C asean อาคาร  CW Tower เมื่อวันก่อน

ลดความเสี่ยง...พล.ท.นพ.อำนาจ บาลี ผอ.สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ในวันลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสากล ประจำปี 2567 โดยได้รับความร่วมมือจาก แคททรีน คลาร์คสัน หัวหน้าคณะผู้แทนกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) สำนักงานกรุงเทพฯ ที่ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี บางปูใหม่ สมุทรปราการ

อายุยืนด้วยท่องเที่ยว...ดร.สุนทร อรุณานนท์ชัย นำเพื่อนร่วมรุ่นที่จบการศึกษามาแล้ว 63 ปีที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ ACC’ 23 มาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย พร้อมเข้ากราบ พระอธิการพบโชค ติสฺสวํโส ที่วัดห้วยปลากั้ง และแหล่งอื่นๆ พร้อมเข้าพักที่โรงแรมเฮอริเทจ เชียงราย แอนด์ คอนเวนชั่น โดยมี ณรงค์ จิวังกุล วิชัย ศรีประเสริฐ และ สมบูรณ์ อัศวสันติ ร่วมทริปด้วย เมื่อวันก่อน

ช่วยต่อชีวิต...ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา รุจิเรศ นีรปัทมะ ผู้ช่วย กก.ผจก.สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ และสรรหาที่ดิน ธเนศ ศุภรสหัสรังสี นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยว ชลบุรี และ นพ.วิชัย ธนาโสภณ ผอ.โรงพยาบาลบางละมุง ร่วมจัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิต "หนึ่งคนให้...หลายคนรับ" เพื่อเพิ่มจำนวนเลือดในคลัง และช่วยต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยได้ โดยมี Shun Wong ขวัญชัย บุญอารี มรกต กุลดิลก และ มัลลิกา สุดเสน่ห์ ร่วมงาน ที่ลานกิจกรรม ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พัทยา

ประชุมผู้ถือหุ้น...สุเวทย์ ธีรวชิรกุล วิจักษณ์ ประดิษฐวณิช ไกรวิน ศรีไกรวิน เกษมสุข จงมั่นคง  สมเกียรติ มรรคยาธร พร้อม  ทีมคณะกรรมการ และคณะผู้บริหารระดับสูง พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจในเครือข้าวมาบุญครอง ศูนย์อาหารฟู้ด เลเจ้นด์ส และริเวอร์เดล มารีน่า จัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567 เพื่อพิจารณา และอนุมัติแผนการดำเนินงานให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ในรูปแบบการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ห้องสัมมนา ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์