วันที่ 7 พ.ย.67 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เพื่อตรวจเยี่ยมการจัดตั้งศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) ภาคใต้ ที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคใต้ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นศูนย์นำร่องแห่งแรก โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม.  พร้อมคณะผู้บริหาร  หัวหน้าและเจ้าหน้าที่หน่วยงานทีม พม.หนึ่งเดียว จังหวัดในภาคใต้ ร่วมลงพื้นที่

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. ลงพื้นที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เพื่อตรวจเยี่ยมศูนย์แห่งแรกที่บริหารการดูแลพี่น้องกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติทั้งหลาย ซึ่งศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคใต้ จังหวัดสงขลา เป็นหน่วยงานของกระทรวง พม. ซึ่งจากการประสานงานจะเห็นว่าเราได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยามฉุกเฉินเข้ามาร่วมมือกันทั้งกระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ เจ้าหน้าที่จิตวิทยา รวมถึงล่ามภาษามือ ที่จะให้บริการกับพี่น้องที่มีปัญหาความพิการ หูหนวก หรือเป็นใบ้ ซึ่งศูนย์นี้เป็นศูนย์แรกที่เกิดขึ้น และเป้าหมายของกระทรวง พม. คือ จะมีศูนย์เช่นนี้ในทุกจังหวัดของประเทศไทย เพื่อที่ว่ายามเกิดภัยพิบัติขึ้นมานั้น เราจะมีคนโดยเฉพาะที่จะดูแลพี่น้องคนพิการ และผู้สูงอายุ หรือแม้แต่เด็กเล็ก เพราะการดูแลกลุ่มคนนี้จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ต้องใช้องค์ความรู้เป็นพิเศษ ซึ่งหน่วยงานของกระทรวง พม. จะสามารถตอบรับ และตอบสนองต่อความต้องการในการช่วยเหลือให้กับพี่น้องกลุ่มนี้ได้ 

ซึ่งในเบื้องต้น นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่การจะทดสอบศักยภาพของ ศบปภ. ภาคใต้ แห่งนี้ จะทดสอบจริงเมื่อยามเกิดภัยพิบัติ ดังนั้นการเตรียมตัว และการฝึกซ้อมเช่นนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากฝ่ายปกครอง นายอำเภอ และทางสาธารณสุขนั้น เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเมื่อเราฝึกซ้อมกันเรื่อยๆ จนมีความเคยชินกับสิ่งที่เกิดขึ้น ยามที่เกิดภัยพิบัติจริงจะทำให้เราเข้าใจ ดังนั้นการทดสอบศักยภาพจริงๆ ต้องรอให้ถึงเวลานั้น แต่เท่าที่ได้เห็นวันนี้ ถือว่าเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง 

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับสาเหตุหลักที่เราต้องลงมาจังหวัดสงขลาในพื้นที่ภาคใต้เป็นแห่งแรกนั้น พอเข้าเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม จะเป็นช่วงที่มีปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ จึงจำเป็นต้องป้องกันเกี่ยวกับเรื่องปัญหาอุทกภัย ถึงแม้ว่าน้ำจะมาในช่วงเวลาสั้นๆ แต่มาเร็วและมาแรง ซึ่งสร้างความเสียหายทางด้านทรัพย์สิน หรือทางด้านจิตใจ จะยังคงอยู่ ดังนั้น การที่เราเตรียมสถานที่และบุคลากรให้พร้อม และประสานงานกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายความมั่นคง ปกครอง สาธารณสุข จังหวัด และที่เกี่ยวข้องนั้น เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ว่ายามเกิดภัยฉุกเฉิน ยังมีกระทรวง พม. และหน่วยงาน ทีม พม.หนึ่งเดียว ของกระทรวง พม. พร้อมที่จะให้การสนับสนุน รวมถึงฐานข้อมูลที่ว่า ตำบลใด หมู่บ้านใด มีคนกลุ่มเปราะบางอยู่ตรงไหน บ้านเลขที่เท่าไหร่ พิกัดใด จะได้เดินทางไปสถานที่แห่งนั้นอย่างไร ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมที่จะให้ข้อมูลกับฝ่ายปกครอง ในการที่จะเข้าไปช่วยเหลือ 

"กระทรวง พม. ได้แสดงให้พี่น้องคนพิการและผู้สูงอายุ หรือแม้แต่เด็กเล็ก ได้เห็นว่าการทำงานของเราในวันนี้ ไม่ได้รอให้เกิดปัญหา มีการเตรียมตัว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เพื่อที่จะสามารถดูแลพี่น้องกลุ่มเปราะบางได้อย่างทันท่วงที ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน แต่ต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเราด้วย ว่าจากนี้ไปปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติทั้งหลาย จะทวีความรุนแรงขึ้น เกิดเพราะอะไร เราจะดูแลตัวเองอย่างไร ซึ่ง ศบปภ. จะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะอยู่เคียงข้างกับพี่น้องกลุ่มเปราะบาง ทั้งการให้ความรู้ และช่วยเหลือสนับสนุนในยามฉุกเฉิน" นายวราวุธ กล่าว