วันที่ 7 พ.ย.2567 เมื่อเวลา 09.30น.ที่รัฐสภา มีการประชุม คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร มีนายรังสิมันต์  โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะ กรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม หารือกรณีการพักรักษาอาการป่วยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ มีความถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล อาทิ นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์  พล.ต.ต.สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ขณะที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรองผบ.ตร. ไม่ได้มาชี้แจงต่อกมธ.ตามที่มีหนังสือเชิญไป โดยกมธ.ส่วนใหญ่ตั้งคำถามพุ่งเป้าไปที่รายละเอียดการพักรักษาตัวของนายทักษิณ และหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรักษาตัวของนายทักษิณ อาทิ ภาพถ่าย ภาพกล้องวงจรปิด รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ เป็นไปตามมาตรฐานและระเบียบของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ 

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซักถามว่า อาการป่วยนายทักษิณที่ระบุเป็นภาวะฉุกเฉิน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ต้องส่งตัวด่วนจากโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ไปโรงพยาบาลตำรวจ ใช้เวลาส่งตัว 21นาที การเดินทางจากเรือนจำไปโรงพยาบาลตำรวจ ระยะทาง 17กิโลเมตร เดินทางโดยทางด่วน 17นาที การปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์หรือพยาบาลที่เรือนจำ จึงมีเวลาปฏิบัติการ 3นาทีเท่านั้น ถือว่ารวดเร็ว อยากรู้ผู้ป่วยรายอื่นที่มีภาวะฉุกเฉิน จะได้รับการปฏิบัติเร่งด่วน มีมาตรฐานแบบเดียวกันหรือไม่ และการอนุญาตให้นายทักษิณรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นเวลานาน ใครคือผู้ให้ความเห็น

ขณะที่น.ส.พรรณิการ์ วาณิช ที่ปรึกษากมธ. ซักถามว่า การพักรักษาตัวที่ชั้น14 ของนายทักษิณมีค่าห้องและค่ารักษาพยาบาลเท่าใด ใครออกค่าใช้จ่าย ให้แสดงหลักฐาน อย่างไรก็ตามระหว่างที่กมธ.รุมซักถามนั้น นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษากมธ. เบรกการซักถามเป็นระยะๆ โดยกล่าวว่า การซักถามเรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆไม่มีอะไรคืบหน้า คนมาชี้แจงก็ต้องตอบไปตามหลักการ คำถามวนไปมา ไม่น่าฟัง ถามถึงแต่ภาพถ่าย ภาพวงจรปิด ควรถามว่า การพักชั้น14 เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ 

ด้านพล.ต.ต.สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์  อดีตรองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ชี้แจงว่า ช่วงที่ทำหน้าที่เป็นรองนายแพทย์ใหญ่ ไม่ทราบข้อมูลผู้ป่วย เพราะกำลังทำเรื่องเออรี่รีไทร์ และพักร้อนในช่วงนั้น เมื่อมีหนังสือส่งตัวมาให้รักษา เราก็รักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะผู้ป่วยและความเห็นของแพทย์ที่ดูแลด้วย ตนเชี่ยวชาญด้านผ่าตัดผ่านกล้อง ไม่ได้เป็นผู้ผ่าตัดนายทักษิณ ส่วนนายทักษิณจะผ่าตัดหรือไม่ ตนไม่ทราบ เพราะตอนนั้นลาพักร้อน 3 สัปดาห์ ส่วนการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจจะสั้นหรือยาว ขึ้นอยู่กับภาวะของโรค ส่วนตัวไม่เคยไปรักษา ชั้น14 ไม่สามารถตอบได้ ขณะที่เรื่องการบันทึกภาพระหว่างรักษาตัว ก็ไม่ทราบเช่นกัน แต่จากประสบการณ์ที่เคยรักษาผู้ต้องขังนั้น ไม่เคยเห็นต้องบันทึกภาพ

นายวัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข  ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์  ชี้แจงว่า กรณีการส่งตัวนายทักษิณจากเรือนจำไปโรงพยาบาลตำรวจ ไม่ได้ผ่านโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะพยาบาลในสถานพยาบาลพิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยง จึงส่งตัว เนื่องจากตอนดึกนายทักษิณมีอาการแน่นหน้าอก ความดันสูงขึ้น ระดับออกซิเจนต่ำ กรณีมีผู้ป่วยต้องออกไปรักษาตัวด้านนอก ต้องส่งโดยเร็ว ป้องกันเหตุพิการ เสียชีวิต ศักยภาพของโรงพยาบาลในการรักษาด้านโรคหัวใจนั้น เรามีเครื่องมือการแพทย์ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลภายนอก การสวนหัวใจไม่สามารถทำได้ ต้องส่งต่อ 

ทั้งนี้การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวด้านนอก ถ้าเป็นในเวลา เป็นหน้าที่ของแพทย์ในเรือนจำ แต่ถ้านอกเวลาจะเป็นพยาบาลเป็นผู้ประเมิน ไม่มีแพทย์คนใดเข้าไปในสถานพยาบาลแต่ละแดนนอกเวลา แต่พยาบาลก็มีทักษะประเมินผู้ป่วยฉุกเฉินได้ ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินคนเซ็นอนุญาตคือ ผู้บัญชาการเรือนจำ โรงพยาบาลตำรวจเป็นโรงพยาบาลที่ราชทัณฑ์ส่งผู้ป่วยไปมากที่สุด ส่วนการประเมินว่า ต้องได้รับการรักษาตัวต่อนั้น เป็นหน้าที่แพทย์ผู้รักษาของโรงพยาบาลตำรวจ โดยมีข้อมูลทางการแพทย์ว่า เหตุใดควรต้องรักษาตัวต่อ ส่วนเรื่องจำนวนวันที่ต้องรักษาตัว ตนไม่ทราบ

นพ.วัฒน์ชัย  กล่าวว่า ส่วนเรื่องค่าห้องและค่ารักษานายทักษิณนั้น อยู่ที่ 8,500 บาทต่อวัน รวมค่ารักษาอยู่ที่ประมาณ 1ล้านบาท ไม่มีข้อมูลว่า ใครเป็นผู้จ่าย แต่ผู้ต้องขังทุกคนที่อยู่ในโรงพยาบาล จะได้รับการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในทุกกรณี ยกเว้นกรณีที่เกินสิทธิ ผู้ต้องขังหรือญาติผู้ต้องขังต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ยืนยันว่ากรณีผู้ต้องขังเจ็บป่วยฉุกเฉินจะได้รับการรักษาตัวทันท่วงทีเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน