ไทยแลนด์..โดดเด่นบนเวทีผู้นำลุ่มน้ำโขงครั้งที่ 8 เต็มคณะเช้าวันนี้ นายกฯแพทองธาร ยืนยันไทยยึดหลัก 3Cs “สร้างความเชื่อมโยง เสริมขีดความสามารถ สร้างประชาคมที่ดีขึ้น” เพื่อประชาคมลุ่มน้ำโขงเข้มแข็งและรุ่งเรือง พร้อมแชร์ผลสำเร็จนโยบายที่ทำให้คนไทยสุขภาพดี 30 บาทรักษาทุกที่บนเวทีให้สมาชิก 6 ปท.
 
               วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2567) เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครคุนหมิง เร็วกว่ากรุงเทพฯ 1 ชม.) ณ Yunnan Haigeng Convention Center นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเต็มคณะ (Plenary Session) ของการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) โดยมีนายกรัฐมนตรีจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมถึงประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) โดยประเทศไทย มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
 
           นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของถ้อยแถลง ดังนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณประเทศจีนในการเป็นเจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้ และประเทศไทยยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมที่สำคัญนี้ ร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิก GMS และพันธมิตรเพื่อการพัฒนาในภูมิภาค ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้ง 6 ประเทศ ซึ่งได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือและแสดงถึงความพร้อมในการเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ในโลกร่วมกัน 

           นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเราจะมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่ดีกว่าเดิมด้วยการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่เหมาะสมกับยุคสมัย และส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนา โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และนำไปสู่การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วทั้งอนุภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทยในการเป็นผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมเสริมสร้างการพัฒนาร่วมกันของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นประชาคมที่เข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ตามแผนงาน GMS คือ 3Cs ดังนี้
 
             (1) ประเทศไทย ได้เร่งสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ให้เป็นรากฐานของการบูรณาการระดับภูมิภาค ซึ่งไทยมีความก้าวหน้าในการสร้างความเชื่อมโยงอย่างครอบคลุมทั้งภายในและระหว่างภูมิภาค อาทิ การเปิดให้บริการรถไฟระหว่างประเทศ เส้นทางกรุงเทพฯ - เวียงจันทน์ สปป.ลาว การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี รวมทั้งแผนการก่อสร้างสนามบินล้านนา ที่ภาคเหนือ และสนามบินอันดามันในภาคใต้ ที่จังหวัดพังงาใกล้กับ จังหวัดภูเก็ต  
               นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ประเทศสมาชิกได้กลับมาดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงระยะแรก (GMS Cross-Border Transport Agreement: CBTA) หลังจากหยุดชะงักไปชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในระยะต่อไปจะต้องอาศัยความพยายามร่วมกันผ่านการพัฒนากฎระเบียบและความร่วมมือต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับความเชื่อมโยงบริเวณชายแดน เพื่อให้การค้าและการคมนาคมขนส่ง ข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ราบรื่นและไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น
 
             (2)  จะส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สอดคล้องกับแนวทางของไทยที่ขับเคลื่อนไปสู่ยุคดิจิทัล ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด โดยมีการใช้เงินในระบบดิจิทัล ระบบพร้อมเพย์ สำหรับการรับและโอนเงิน และการชำระผ่าน QR Code ข้ามพรมแดนอย่างแพร่หลายแล้ว โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีทางการเงินนี้ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทันสมัย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่อำนวยต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้น
 
            (3) เสริมสร้างประชาคม (Community) ถือเป็นหัวใจสำคัญของ GMS ด้วยการสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน และขยายโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมประชาชนทุกคน ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่มประเทศ GMS ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาแบบครอบคลุมของไทย และให้ความสำคัญต่อเยาวชนผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพทางสังคม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในอนุภูมิภาคนี้
 
                 นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยยังเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ นโยบายสาธารณสุขของไทย ที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น แต่รัฐบาลไทยก็ไม่หยุดนิ่งที่จะยกระดับและพัฒนานโยบายสาธารณสุขจาก “30 บาท รักษาทุกโรค” มาเป็น “30 บาท รักษาทุกที่” พร้อมขยายบริการสุขภาพมาตรฐานโดยใช้ระบบการแพทย์ทางไกล รวมถึงปรับปรุงการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพให้เป็นดิจิทัล ซึ่งไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีกับประเทศสมาชิก GMS
  
ทั้งนี้ ประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นต่อการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 ซึ่งได้ถูกบูรณาการในแผนการพัฒนาระดับต่าง ๆ ของประเทศไทยด้วยแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าความเจริญรุ่งเรืองของประชาคม GMS จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
 
           ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอบคุณธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี สำหรับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และขอบคุณคณะทำงานเฉพาะกิจต่าง ๆ พันธมิตรเพื่อการพัฒนา สภาธุรกิจ GMS รัฐบาลท้องถิ่น และประเทศสมาชิก GMS ที่ช่วยกันทุ่มเทในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของ GMS โดยเชื่อมั่นว่าการประชุมในวันนี้จะส่งเสริมให้ความพยายามร่วมกันเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและการบูรณาการระดับภูมิภาค พร้อมทั้งจะร่วมขับเคลื่อน GMS สู่การเป็นอนุภูมิภาคที่มีการบูรณาการมากขึ้น มีความเจริญรุ่งเรือง ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
 
              อนึ่ง ที่ประชุมได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 8 (Joint Summit Declaration) และ (2) ร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 แผนงาน GMS (Greater Mekong Subregion Innovation Strategy for Development 2030)  นายจิรายุ กล่าว